กสม.ขอทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาช้างป่า หน่วยงานรัฐทั้งมหาดไทย-เกษตร-ทรัพย์ฯ เร่งตั้งคณะกรรมการดูแลระดับจังหวัด-อำเภอ / หารือการเยียวยาทั้งด้านพืชผลทางการเกษตรเสียหาย และผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 มิ.ย. 2567 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2565 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีช้างป่าออกหากินนอกเขตป่าอนุรักษ์ใกล้แหล่งชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมามากกว่า
20 ปี และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
จากสถิติการสำรวจในเดือนมกราคม 2567 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า มีช้างป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ 16 กลุ่มป่า 93 พื้นที่อนุรักษ์ มากกว่า 4,000 ตัว มีแหล่งที่อยู่อาศัยครอบคลุมบริเวณประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร โดยช้างป่าเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ มีพละกำลังมาก สามารถเดินทางไกลได้ครั้งละหลายสิบกิโลเมตร จึงทำให้เกิดความเสียหายได้เป็นวงกว้าง
ระหว่างปี 2560 - 2563 พบว่า ช้างป่าออกหากินนอกเขตป่าอนุรักษ์กว่า 19,500 ครั้ง ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่า 150 ราย รวมทั้งถูกทำลายทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรกว่า 3000 ราย ด้วย ทั้งนี้ กลุ่มป่าตะวันออกมีช้างป่าออกหากินนอกเขตป่ามากที่สุดกว่า 8,900 ครั้ง ต่อปี รองลงมาคือ กลุ่มป่าแก่งกระจานกว่า 6,400 ครั้ง กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ กว่า 2,300 ครั้ง และกลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าภูเขียว - น้ำหนาว พื้นที่ละกว่า 400 ครั้ง
ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนรอบพื้นที่อนุรักษ์ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในหลายมิติ เช่น ผลกระทบทางตรงต่อร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ จากการปะทะกับช้างป่าและการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย และผลกระทบสืบเนื่องจากกระบวนการจัดการปัญหา ได้แก่ การขาดการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชนในการวางแผนหรือกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ การเยียวยาที่ล่าช้าและไม่เหมาะสมกับความเสียหาย รวมทั้งการเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากการกำหนดหลักเกณฑ์ที่สัมพันธ์กับการมีสัญชาติไทย เอกสารสิทธิในที่ดิน และกฎหมายที่เกี่ยวกับพื้นที่สงวนหวงห้าม ทั้งยังมีผลสืบเนื่องให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในบางพื้นที่
กสม. จึงเห็นสมควรให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อบูรณาการจัดการความเสียหายจากช้างป่าและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม
@ปัญหาช้างป่า มีหลายสาเหตุ
จากการศึกษาพบว่า แต่ละพื้นที่มีสาเหตุหลักที่ต่างกัน ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออกมีสาเหตุมาจาก ความหนาแน่นของประชากรช้างเกินศักยภาพของพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มป่าตะวันตกมีสาเหตุมาจากการพัฒนาและการจัดทำโครงสร้างขนาดใหญ่กระทบต่อสัตว์ป่า ส่วนกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว พื้นที่อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย มีสาเหตุมาจากการปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชอาหารของช้างป่าเพื่อตอบสนองต่อการผลิตในทางอุตสาหกรรม นอกจากสาเหตุเฉพาะพื้นที่แล้วยังมีเหตุปัจจัยด้านความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และด้านการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและชุมชน
สำหรับการตอบสนองต่อปัญหา พบว่า มีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ โดยชุมชนที่ตื่นตัวมากและมีความเข้มแข็ง จะมีการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชน ดำเนินการเชิงรุกทำงานร่วมกับภาครัฐ ระดมทุนเองเพื่อเฝ้าระวังช้างป่า รวมทั้งจัดหาแหล่งเงินทุนและจัดตั้งกองทุนเองเพื่อเยียวยาความเสียหายและลดอันตรายของปัญหาด้วยตนเอง ส่วนในพื้นที่ที่มีภาคประชาสังคม นักวิชาการและนักวิจัย ให้ความสนใจและดำเนินการศึกษา จะมีการทดลองและวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการและเครื่องมือใหม่ ๆ ในการจัดการกับปัญหาอยู่เสมอ โดยมีข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนากลไกป้องกัน เฝ้าระวัง และเยียวยาความเสียหาย
ตรงข้ามกับชุมชนที่มีความสัมพันธ์ด้านลบกับรัฐที่จะเกิดความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เช่น บางชุมชนจะยิ่งมีทัศนคติเชิงลบกับคำกล่าวว่ารัฐจะแก้ไขปัญหาให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ โดยมองว่าหน่วยงานของรัฐเน้นการปกป้องช้างตามหน้าที่และอำนาจมากกว่าคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า ความไม่ต่อเนื่องของงบประมาณในการสร้างหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่จะช่วยป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่า และการที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนเกี่ยวกับแผนการดำเนินการของหน่วยงาน ก็ยิ่งเพิ่มความไม่ไว้ใจให้กับชุมชนด้วย
@ปี 65 - 67 สถานการณ์ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า ตั้งแต่ ปี 2565 – เดือนมีนาคม 2567 การจัดการปัญหาช้างป่าในภาพรวมมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการร่วมมือ แนวคิดและวิธีการจัดการ การป้องกันและเฝ้าระวัง รวมถึงภาครัฐได้พัฒนากลไกเยียวยาในด้านอัตราเงินช่วยเหลือ โดยยังพบข้อท้าทายและแนวทางที่ควรต้องดำเนินการพัฒนาต่อไป ได้แก่ การวางแผนจัดการเส้นทางเดินช้าง การพัฒนาเครื่องมือผลักดันช้างป่าที่ไม่สัมพันธ์กับมนุษย์ การทำประกันภัย การแลกเปลี่ยนและการจัดการแบบมีส่วนร่วม การช่วยเหลือและเยียวยาพืชผลทางการเกษตร การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อป้องกันช้างป่า และความต่อเนื่องของกิจกรรมและการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ
กสม. พิจารณาแล้ว เห็นว่า วิธีการรับมือและวิธีการจัดการปัญหาช้างป่าที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ต้องอาศัยการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องบนฐานของการจัดการเชิงพื้นที่ (Area–based approach) และการจัดการแบบมีส่วนร่วมจากรากฐานขึ้นไปสู่ระดับนโยบาย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
(1) มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้จังหวัดที่ประสบภัยช้างป่า และยังไม่มีคณะกรรมการช้างป่าระดับจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย อันได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนประชาชนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนในพื้นที่นั้น ในสัดส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน
และให้แต่ละอำเภอหรือท้องถิ่นแต่งตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือให้แผนงานในระดับพื้นที่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นควรมีขอบเขตดำเนินการในการสนับสนุนการศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ การจัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหรือโครงการจัดการช้างป่าที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ และเส้นทางของช้างป่าในเขตพื้นที่ ประเมินผลการจัดการช้างป่าประจำปีเพื่อพัฒนาเครื่องมือในการจัดการปัญหา รับคำร้องและแสวงหาข้อเท็จจริงและประเมินความเสียหายเบื้องต้น เพื่อประสานความช่วยเหลือให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงการเยียวยา
นอกจากนี้ ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการจัดการช้างป่าเพื่อติดตามและประมวลผลร่วมกับทุกภาคส่วน ในตำบลที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อยทุก 180 วัน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของช้างป่าแบบเป็นปัจจุบัน (Real-time) ที่ผู้ใช้งานทั่วไป ได้แก่ เจ้าหน้าที่ ประชาชน และอาสาสมัคร สามารถลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบในการตรวจสอบ เพิ่ม และแบ่งปันข้อมูลของแต่ละพื้นที่ได้
ทั้งนี้ให้คณะรัฐมนตรีส่งแนวทางการจัดการช้างป่าที่ว่าด้วยการสร้างกลไกระดับพื้นที่เพื่อการจัดการแบบมีส่วนร่วม การสนับสนุนต่อยอดการศึกษาวิจัยและสนับสนุนตลาดสำหรับพืชทางเลือก การปรับปรุงหลักเกณฑ์การเยียวยาพืชผลทางการเกษตรและการประกันภัย และการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องไปยังคณะกรรมการช้างอนุรักษ์และจัดการช้างระดับชาติเพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรการบริหารจัดการช้างป่าในทางนโยบายต่อไป
(2) มาตรการหรือแนวทางป้องกันและเยียวยาความเสียหาย
ระยะเร่งด่วน ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหารือกันและทำความตกลงกับกรมบัญชีกลาง ในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์ปลีกย่อยที่เกี่ยวข้อง กรณีเงื่อนไข “พืชตายสิ้นเชิง”
ระยะสั้น ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมบัญชีกลาง ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ศึกษาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะในการป้องกันและเยียวยาตามประกาศ ก.ก.ถ. เรื่อง กำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนของประชาชน ลงวันที่ 12 มีนาคม 2567 และด้านทรัพย์สินเสียหายและพืชผลทางการเกษตร ที่เหมาะสมกับลักษณะความเสียหายจากช้างป่าที่ไม่ได้เสียหายทั้งไร่ต่อครั้งให้แตกต่างจากภัยพิบัติทั่วไป และมีอัตราที่เหมาะสมกับราคาพืชผลชนิดนั้น
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
ที่มาภาพปก: https://pixabay.com/th/photos/