กสม.ชี้ชัดกรณี ซีเซียม-137 หายเมื่อปี 65 ระบุ ‘เนชั่นแนลฯ’ ละเมิดสิทธิ์ประชาชนหลังทำหายแล้วแจ้งช้า จี้ ปส. เรียกค่าเสียหาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2566 กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าชีวมวลความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
ต่อมาสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จังหวัดปราจีนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์จำนวนมาก ร่วมกันค้นหาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตรวจพบกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในถุงขนาดใหญ่ของโรงงานหลอมโลหะ บริษัท เค พี พี สตีล จำกัด ในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดยืนยันว่า เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย ส่งผลให้ประชาชนวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัยในการควบคุมและครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีและการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกรณีดังกล่าว รวมทั้งตั้งคำถามต่อการประกอบกิจการของโรงไฟฟ้าว่ามีการดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงมีมติเมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบ โดยกสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐต้องเปิดเผยและจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความลับของทางราชการได้โดยสะดวก อันสอดคล้องกับหลักสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืนของประชาชน หลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) เพื่อป้องกันผลกระทบและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม และหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle: PPP) ตลอดทั้งหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(UNGPs) ที่ระบุถึงหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาความเสียหาย
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
@’เนชั่นแนลฯ’ ละเมิดสิทธิประชาชน หละหลวมปล่อยให้กัมมันตรังสีสูญหาย
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้สูญหายไปจากโรงงาน ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่บริษัท เนชั่นแนลฯ กลับแจ้งการสูญหายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสีตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้บริษัท เนชั่นแนลฯ ต้องแจ้งให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ทราบทันที ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักการระวังไว้ก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัท เนชั่นแนลฯ ไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและการควบคุม ป้องกันวัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ในความครอบครองที่เพียงพอ โดยปล่อยให้สูญหายไปได้โดยง่าย ทั้งที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เป็นวัตถุอันตรายมากกว่าทรัพย์สินอื่น ๆ จึงรับฟังได้ว่า บริษัทเนชั่นแนลฯ ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน อย่างไรก็ดี ปส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทแล้ว กสม. จึงสั่งให้ยุติเรื่องในประเด็นนี้ อันเป็นกรณีตามมาตรา 39 (5) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าบริษัท เนชั่นแนลฯ จะถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว แต่บริษัท เนชั่นแนลฯ ยังมีหน้าที่ต้องแจ้งการสูญหายของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบภายใน 24 ชั่วโมง ตามประกาศกระทรวงฯ ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 แต่ก็มิได้รายงานให้ทราบภายในกำหนด อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ไม่สามารถบังคับโทษตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้
@เค พี พี ไม่ละเมิดสิทธิ์ เพราะตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อน
สำหรับกรณีการตรวจพบกากกัมมันตรังสีดังกล่าวในโรงงานหลอมโลหะของบริษัท เค พี พีฯ เห็นว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ได้ออกคำสั่งให้บริษัท เค พี พีฯ หยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี และผลการตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในร่างกายของพนักงานในโรงงาน และไม่พบการปนเปื้อนของรังสีในน้ำ ดิน อากาศ และน้ำประปาในพื้นที่บริเวณโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงที่ก่อให้เกิดอันตราย ประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า บริษัท เค พี พีฯ ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ แม้ว่ากากกัมมันตรังสีข้างต้น จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่ก็เป็นต้นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปร่วมตรวจสอบและค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 รวมถึงเก็บรักษาและกำจัดกากกัมมันตรังสี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว เมื่อ ปส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการก็สามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษได้ตามกฎหมาย ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และหลักความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน
@ปรานจีนฯไม่ละเมิดสิทธิ์ เพราะตั้งคณะทำงานและแจ้งข้อมูลประชาชนแล้ว
ส่วนกรณีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน และสร้างความรับรู้มาตรการด้านความปลอดภัยจากกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 นั้น เห็นว่า จังหวัดปราจีนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุภัย
จากนิวเคลียร์และรังสี และได้สื่อสารข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบในช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 จึงมีมติ ให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
@ปส.เจ้าภาพเรียกค่าเสียหาย
1) ให้บริษัท เนชั่นแนลฯ จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านที่ระบุความเสี่ยง การป้องกัน การบรรเทาผลกระทบ และกำหนดหน่วยรับผิดชอบเมื่อเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และมีกระบวนการเยียวยาเมื่อเกิดผลกระทบจากการกระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กำกับดูแลบริษัทให้ปฏิบัติตามหลักการ UNGPs ด้วย
2) ให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรียกให้บริษัท เนชั่นแนลฯ ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 วรรคสอง
3) ให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) เร่งจัดการวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ของโรงไฟฟ้าชีวมวลความร้อนของบริษัท เนชั่นแนลฯ และกำจัดกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137ที่เก็บไว้ในโรงงานหลอมโลหะของบริษัท เค พี พีฯ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน และตรวจสอบปริมาณรังสีจากวัสดุและกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ไม่ให้แพร่กระจายหรือสูญหาย รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ๆ จนกว่าจะจัดการวัสดุและกากกัมมันตรังสีดังกล่าวแล้วเสร็จ
4) ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทบทวนประกาศฯ ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ให้มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดรังสีในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะการปนเปื้อนทางรังสีด้วย
ที่มาภาพปก: มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร