ทนายแอมไซยาไนด์ร้องอัยการ เอาผิดบิ๊กโจ๊ก ตาม กม.อุ้มหาย ย้ำจนท.ทำเกินกว่าเหตุ ทำแอมแท้งลูก ด้านอัยการวัชรินทร์ยืนยันเป็นสิทธิ์ ปชช.ร้องเรียนได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี นางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณรัตน์ หรือทนายพัช ทนายความของนางสาวสรารัตน์ หรือ แอม ไซยาไนด์ ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล คณะพนักงานสอบสวน และชุดจับกุมตามความผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
นางสาวธันย์นิชากล่าวว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่าน หลังลูกความ “แอม” ถูกจับดำเนินคดีในฐานะทนายความได้รวบรวมพยานหลักฐาน จนพบการกระทำ 7 กรณี ที่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.อุ้มหาย เช่น วันจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ศูนย์ราชการฯ ซึ่งชุดจับกุมถ่ายวิดีโอไว้ แต่เป็นการถ่ายไม่ต่อเนื่อง และควบคุมตัวผู้ต้องหาไปที่สโมสรตำรวจพบกับนักข่าว ทั้งที่ความจริงจะต้องพาไปสอบสวนที่กองปราบปราม หน่วยงานที่ขอศาลออกหมายจับ และบางช่วงชุดจับกุมคุมตัวผู้ต้องหาไปยังร้านกาแฟ บริเวณสนามฟุตบอล และปล่อยให้นั่งเฉย ๆ ซึ่งมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนดำเนินคดี และไม่ทราบว่าพาผู้ต้องหาไปทำไม รวมทั้งกรณีเข้าไปพบผู้ต้องหาในเรือนจำเพื่อสอบสวนให้รับสารภาพ จนภายหลังผู้ต้องหาแท้งลูก จึงต้องการให้สอบสวนว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดด้วยหรือไม่ เนื่องจากบางช่วงที่ตำรวจเข้าไปในเรือนจำเป็นวันหยุดราชการ หรือช่วงหลังเวลาราชการแล้ว
ทั้งนี้ ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นการกระทำของชุดกับกุมและพนักงานสอบสวนที่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดยยื่นให้ตรวจสอบดำเนินคดีประมาณ 100 คน รวมทั้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนในขณะนั้น
นางสาวธันย์นิชา ยืนยันที่ฟ้องดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และพวกช่วงนี้เป็นเพราะครบรอบ 1 ปีคดี “แอม ไซยาไนด์” ไม่ใช่เป็นเพราะพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากเป็นการฟ้องตามข้อเท็จจริง ซึ่งในฐานะที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เป็นผู้บังคับบัญชา หากลูกน้องกระทำความผิดก็ต้องร่วมรับผิดด้วยกึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนสงกรานต์ ตนได้เข้าไปเยี่ยม “แอม” ในเรือนจำ พบว่าสภาพไม่ดีเท่าไหร่ แต่สวยขึ้นหลังแท้งลูกดูปราดเปรียวขึ้น เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดี และดูแล้วมีสำนึกในการกระทำอยู่บ้าง แต่ยังบ่นคิดถึงลูก
ด้านนายวัชรินทร์ ระบุว่า ในฐานะศูนย์ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กทม. หลังรับเรื่องจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมถึงข้อกฎหมายโดยมอบให้อัยการที่เกี่ยวข้องรับดำเนินการ เนื่องจากต้องพิจารณาในสิ่งที่ทนายยื่นเอกสารหลักฐานให้ว่าเข้าข่าย ความผิดมาตรา 6 และมาตรา 7 พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ ส่วนมาตรา 42 เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาก็ต้องพิจารณาว่ามีการกระทำที่เกี่ยวข้องผิดหลักกฎหมายดังกล่าวหรือไม่
รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ยังกล่าวอีกว่าประชาชนทั่วไป หากถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะหน่วยงานใด ซ้อมให้สารภาพในชั้นจับกุม หรือแม้กระทั่งการควบคุมตัว ก็สามารถมาร้องเรียนได้หากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีคณะกรรมการตรวจสอบและหากภายหลังพบว่าเรื่องที่ร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีมูลความผิด ประชาชนผู้ที่ร้องเรียนก็จะไม่มีความผิด ทั้งแพ่ง และอาญา เช่นกัน