กสม.มอนิเตอร์สถานการณ์เด็ก หลังพบเหตุเด็กรุมตบในโรงเรียนและการสั่งให้เด็กถอดเสื้อผ้า วอนทุกฝ่ายคำนึงถึงสิทธิของเด็ก อย่าผลิตซ้ำความรุนแรง และโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 มีนาคม 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่คลิปและปรากฏข่าวเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง กรณีกลุ่มนักเรียนหญิงรุมทำร้ายร่างกายเพื่อนนักเรียนอย่างรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บในจ.มหาสารคาม นครศรีธรรมราช และตรัง และมีกรณีครูให้เด็กอายุ 4 ขวบ ทั้งชายและหญิงถอดเสื้อผ้าบนเวทีเพื่อทำกิจกรรมแข่งขันการแต่งตัวในกีฬาสีของศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความห่วงใยในประเด็นสิทธิของเด็ก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ประกอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก 2546 ที่ระบุว่าการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นลำดับแรก เด็กจะต้องไม่ถูกแทรกแซงในความเป็นอยู่ส่วนตัว ครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ทั้งพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง (Bully) ทางวาจาอย่างรุนแรง รวมทั้งการรุมทำร้ายร่างกายเพื่อนนักเรียนด้วยกัน นอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านร่างกายแล้ว ยังทำให้เด็กที่เป็นเหยื่อได้รับบาดแผลทางจิตใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า หวาดกลัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่อยากไปโรงเรียน และมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับสังคมโดยรอบ ขณะที่เด็กผู้กระทำความรุนแรงและเด็กที่มีส่วนร่วมรู้เห็นในเหตุการณ์ ก็อาจคุ้นชินกับวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงดังกล่าว และนำมาสู่ปัญหาสังคมในอนาคต
ส่วนกรณีการจัดกิจกรรมแข่งขันแต่งตัวโดยให้เด็กถอดเสื้อผ้าและเปลือยกายในที่สาธารณะนั้นแม้จะเป็นกรณีที่ครูและผู้ปกครองบางคนไม่มีเจตนาหรือเล็งเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวจะทำให้เด็กอับอายแต่ถือเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก ส่งผลกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของเด็กและครอบครัว และอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ (sexual exploitation)
การที่ผู้ปกครองและผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ถ่ายภาพหรือถ่ายคลิปเด็กเปลือยกาย แล้วนำไปเผยแพร่หรือส่งต่อในสื่อออนไลน์ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเด็กแล้วยังกระทบต่อสิทธิที่จะถูกลืม (Rights to be Forgotten) ด้วย เนื่องจากภาพหรือคลิปจะยังคงอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตและสามารถสืบค้นได้ ซึ่งอาจสร้างปมในใจให้กับเด็กในอนาคต
กสม. เห็นว่า ทุกฝ่ายจะต้องระมัดระวังไม่เผยแพร่หรือผลิตซ้ำความรุนแรง รวมทั้งการละเมิดสิทธิเด็ก นอกจากนั้นสถานศึกษาจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทั้งทางกายภาพและจิตใจ และควรเป็นที่อบรมบ่มเพาะนิสัยให้เด็กคุ้นชินกับวัฒนธรรมการไม่ใช้ความรุนแรง การไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการศึกษาและการคุ้มครองเด็กควรมีมาตรการเพื่อกำกับดูแล ป้องกัน แก้ไข และเยียวยาปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการใช้ความรุนแรงและการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมในโรงเรียนขึ้นอีก