กสม.ร่วมงานระดับโลกเรื่องยาเสพติด เปิดข้อมูลพบคนไทยติดยาถึง 4 ล้านคน แนะลดใช้มาตรการทางกฎหมาย หันมาใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาแทน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 พ.ย. 2566 นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) และ คณะกรรมการประจำ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights: CESCR) จัดการประชุมปรึกษาหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดทำความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของนโยบายยาเสพติด
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวถึงสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 4 ล้านคน กฎหมายกำหนดให้การเสพยาเสพติดเป็นความผิดทางอาญา ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ร้อยละ 79.2 ของผู้ต้องขังเป็นผู้กระทำผิด
ในคดียาเสพติด ในปี 2564 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญจาก
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติวาระพิเศษว่าด้วยยาเสพติด (UNGASS 2016) ซึ่งมีการพูดถึงมิติสิทธิมนุษยชนในการควบคุมปัญหายาเสพติด และเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุคำว่า การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ไว้ในกฎหมาย แต่ยังคงกำหนดให้การเสพยาเสพติดเป็นความผิดทางอาญา และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบำบัด รักษา ฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีความเหมาะสม แต่ก็ยังขาดความพร้อมในหลายด้าน ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น การจับกุมโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบการทำร้ายร่างกาย การให้อำนาจพิเศษ ป.ป.ส.ในการควบคุมตัว เป็นต้น
กสม. สนับสนุนการนำมาตรการการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) มาใช้แทนมาตรการทางกฎหมาย ในส่วนของผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพราะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ควรยกเลิกโทษอาญาสำหรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ ยกเลิก การบังคับบำบัดยกเว้นกรณีที่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม การพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดที่เพียงพอ การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ยา ชุมชน ภาคประชาสังคม ในการร่วมจัดบริการที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ให้กับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ และประชาชนทั่วไป
ที่มาภาพ: https://pixabay.com/th/photos/