‘รมช.คมนาคม’ ประกาศดันทางคู่สายใต้หาดใหญ่ - ปาดังฯ’ วงเงิน 7,864 ล้านบาท ลัดคิวตีคู่ทางคู่อีสาน ‘ขอนแก่น - หนองคาย’ ชงบอร์ดรถไฟ 19 ต.ค.นี้ พร้อมประกาศในปีงบ 67 รถไฟงบดุลต้องไม่ติดลบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บจ.เอสอาร์ที แอสเสท (SRTA) เน้นย้ำใน 2-3 ประเด็น ได้แก่
1.ความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ซึ่งได้เห็นชอบให้นำรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 55 กม. วงเงินโครงการ 7,864.49 ล้านบาท ขึ้นมาผลักดันก่อน หลังจากที่กำลังผลักดันช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ซึ่งที่ผลักดันเส้นทางนี้เพราะว่าประชาชนในชายแดนใต้เรียกร้องมา ซึ่งผู้บริหาร รฟท.พิจารณาแล้วเกิดประโยชน์ ก็จะผลักดันเส้นทางนี้ขึ้นมา
ทั้งนี้ สถานะของโครงการอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงการ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.วันที่ 19 ต.ค. 2566 นี้ ก่อนที่ในเดือน พ.ย. 2566 จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะผลักดันทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 59,399.80 ล้านบาท เป็นลำดับถัดไป ซึ่งทั้ง 3 สายทาง จะเสนอครม.ให้จบในปีงบประมาณ 2567
ส่วนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 สายทาง ประกอบด้วย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท คาดว่าจะเข้าครม.ภายในสิ้นปี 2566
ภาพจำลองโครงการรถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ จากผลการศึกษาเมื่อปี 2558
ที่มา: บจก. โชติจินดา คอนซัลแตนท์
@ในงบปี 67 ต้องไม่ขาดทุน
2.ผลประกอบการของ รฟท.ที่ขาดทุนสะสมมาโดยตลอด เบื้องต้น วางเป้าหมายไว้ว่าในสิ้นปีงบประมาณ 2567 นี้ ตัวเลขกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะต้องไม่ติดลบ ซึ่ง รฟท.มีจุดแข็งคือ ดำเนินในธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง (Monopoly) แต่จุดอ่อนคือ เมื่อไม่มีคู่แข่ง ก็ไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นมา ดังนั้น ส่วนตัวจึงสั่งการไปว่า ให้ รฟท. ไปเพิ่มแผนงานด้านการตลาดและการขายให้มากกว่านี้ โดยต้องไปหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งผู้โดยสารและสินค้ามาใช้บริการ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ รฟท. โดยเฉพาะปริมาณการใช้รถไฟสำหรับขนส่งสินค้า โดยปัจจุบันขบวนรถสินค้าที่ให้บริการมีจำนวน 78 ขบวนต่อวัน ในปีงบประมาณ 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้า จำนวน 12.04 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ จำนวน 2,143.11 ล้านบาท ดังนั้น ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567 จะต้องเห็นแล้วว่า รฟท.มีลูกค้าอยู่ที่ไหน ทำให้ยอดขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 30% ให้ได้ ซึ่งโจทย์ต่างๆที่ให้ รฟท.ไป จะต้องมารายงานความคืบหน้าทุกๆ 3 เดือน
ขณะเดียวกัน รฟท.ต้องอำนวยความสะดวกดูแลการขนส่งเดินทางแก่ผู้โดยสาร ทั้งขบวนรถทางไกลในส่วนของรถเชิงพาณิชย์ และรถโดยสารเชิงสังคม ขบวนรถท่องเที่ยว ตลอดจนรฟท.จะต้องเข้าไปช่วยดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผ่านรูปแบบรถไฟชานเมือง ขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่นด้วย
ซึ่งปัจจุบันขบวนรถที่ให้บริการ 212 ขบวน/วัน แบ่งเป็นขบวนรถไฟทางไกลให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเส้นทางสายเหนือ สายใต้ สายะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวนต่อวัน และขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถนำเที่ยว ที่ให้บริการที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 62 ขบวนต่อวัน นอกจากนั้น จะเป็นขบวนรถท้องถิ่นที่ให้บริการระหว่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
รายงานข่าว ระบุว่า ก่อนหน้านี้ โครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากโครงการออกแบบเป็นระบบรถไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซีย ซึ่งใช้ระบบรถไฟฟ้าอยู่แล้วมากกว่าเอื้อประโยชน์ให้กับการเดินรถไฟของฝ่ายไทย จึงขอให้ รฟท. ทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด โดยถอดระบบไฟฟ้าออก และปรับให้เป็นรถไฟทางคู่เหมือนโครงการอื่น