กสม.ย้ำการมีที่อยู่อาศัยคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนที่รัฐต้องให้การประกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกสารคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องใน “วันที่อยู่อาศัยโลก” ประจำปี 2566 ระบุว่า
“ที่อยู่อาศัย” คือปัจจัยขั้นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยังมีปัญหาการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและพื้นที่สงวนของรัฐตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนเป็นคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ตามที่สาธารณะ ขณะที่บางส่วนได้รับผลกระทบจากการถูกรื้อย้ายที่อาศัยหรือถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่อาศัยดั้งเดิม เนื่องจากบ้านเรือนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือไม่ได้เช่าที่ดินของรัฐเพื่ออยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ผู้อาศัยอยู่ตามแนวเขตพื้นที่ก่อสร้างเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ หรือ ผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ทั้งบนที่ราบสูงและชายฝั่ง เป็นต้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอเน้นย้ำว่า การมีที่อยู่อาศัยคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนที่รัฐต้องให้การประกัน ดังที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ข้อ 11 ระบุไว้ว่า รัฐภาคีต้องรับรองสิทธิของทุกคนในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอและสภาพการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐภาคีจะดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อประกันการทำให้สิทธินี้เป็นจริง โดยรับรองความสำคัญอย่างแท้จริงของความร่วมมือระหว่างประเทศบนพื้นฐานความยินยอมโดยเสรี
เนื่องในโอกาสที่โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น “วันที่อยู่อาศัยโลก” (World Habitat Day) ซึ่งในปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม กสม. ขอสนับสนุนการดำเนินการทุกประการของรัฐบาลที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ขาดโอกาสในการถือครองที่ดิน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและวางแผนที่อยู่อาศัยของตนเองและครอบครัวด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอกัน อันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน