กสม. เผยผลการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 4 จำนวน 42 รายงาน หน่วยงานส่วนใหญ่แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิฯ ตามข้อเสนอแนะแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. มาอย่างต่อเนื่อง โดย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้ยุติการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ/มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 42 รายงาน เนื่องจากหน่วยงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะแล้ว ขณะที่บางกรณีหน่วยงานไม่อาจดำเนินการได้โดยมีเหตุผลอันควร ทั้งนี้สามารถแบ่งประเภทรายงานผลการตรวจสอบที่ กสม. มีมติให้ยุติการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ ได้ดังต่อไปนี้
(1) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จำนวน 23 รายงาน ตัวอย่างเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้มีการแก้ไขปัญหากรณีการสอบสวนคดีล่าช้า โดยเร่งรัดให้พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบของแต่ละคดีดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว นอกจากนี้ กรณีที่มีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่โดยไม่ได้รับความยินยอม ตร. ได้เน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ถือตามระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด โดยห้ามมิให้มีการบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ หรือกรณีที่กรมราชทัณฑ์ได้แก้ไขปัญหาการตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขังด้วยวิธีการไม่เหมาะสมเพื่อค้นหาสิ่งของต้องห้ามก่อนเข้าโดยตั้งงบประมาณเพื่อติดตั้งเครื่องตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขัง (Body Scan) และเรือนจำบางแห่งเริ่มจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันได้กำชับเรือนจำและทัณฑสถานให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่และผู้ต้องขังเข้า – ออกเรือนจำ พ.ศ. 2561 โดยให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำคำแปลระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของเรือนจำเป็นภาษาต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ต้องขังชาวต่างชาติ หรือ กรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ร่วมมือกับผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ ปรับปรุงแนวทาง/วิธีการในการเข้าเยี่ยมบ้านให้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น
(2) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จำนวน 18 รายงาน ตัวอย่างเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก้ไขปัญหาร้องเรียนเรื่องทรงผมนักเรียน โดยยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และได้กำหนดแนวนโยบายให้สถานศึกษากำหนดลักษณะทรงผมได้ตามบริบทและความเหมาะสม เพศสภาพหรือเพศวิถี โดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนกรณีการลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่รุนแรง ได้มีการกำชับหน่วยงานในสังกัดให้ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 เพื่อนำไปปฏิบัติได้ถูกต้องและไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธินักเรียนนักศึกษาทุกรูปแบบ หรือกรณีปัญหาการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ครบถ้วน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และมีการสำรวจจำนวนประชาชนที่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว ขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้บูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการทางสังคมร่วมกับกรมบัญชีกลาง และกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์
(3) รายงานข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 1 รายงาน คือ รายงานข้อเสนอแนะกรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. เช่น กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้กับประชาชนทุกสัญชาติในประเทศไทย รวมทั้งบุคคลไร้รัฐ อย่างทั่วถึง กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข และจัดทำคู่มือ Home Isolation ขณะที่กระทรวงมหาดไทยแจ้งว่าปัจจุบันมีเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบาง ในระดับหมู่บ้านและชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่ดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที