‘วันนอร์’ นัด 22 ส.ค. 66 นี้ โหวตนายกฯ รอบ 3 หลังศาลรัฐธรรมนูยตีตกคำร้องปมโหวตนายกฯซ้ำผิดข้อบังคับสภาฯ ขัดรธน.หรือไม่ไป ส่วนญัตติของ ‘โรม’ เล็งเข้าหารือวิป 3 ฝ่าย พร้อมกับประเด็นให้แคนดิเดตนายกฯแสดงวิสัยทัศน์ก่อนโหวต 18 ส.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่ารัฐสภามีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนําเสนอญัตติซ้ําอีก ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ข้อเท็จจริง ตามคําร้อง คําร้องแก้ไขเพิ่มเติมคําร้อง และเอกสารประกอบนั้น
นายวันนอร์ เปิดเผยว่า หลังจากรับทราบถึงการพิจารณาดังกล่าว ในวันพรุ่งนี้ (17 ส.ค.66) ได้นัดหมายพรรคการเมืองและผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อพิจารณาในรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนถึงระเบียบวาระที่ค้างอยู่ ซึ่งรวมถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย เมื่อได้ข้อสรุปก็จะนัดประชุมกับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ได้แก่ วิปวุฒิสภา (สว.), วิปฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้ง 2 ฝ่าย ในวันที่ 18 ส.ค. 66 นี้ เพื่อหาข้อสรุปในการประชุมรัฐสภา โดยคาดว่าจะนัดหมายประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22 ส.ค. 2566 นี้
เมื่อถามถึงการที่นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภาที่ให้การโหวตนายกรัฐมนตรีซ้ำขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 นั้น ประธานรัฐสภากล่าวว่า เมื่อิมีคำวินิจฉัยแล้ว ต้องหารือต่อไปทั้งกับฝ่ายกฎหมายและวิป 3 ฝ่าย ซึ่งเข้าใจว่าทั้งนายรังสิมันต์และพรรคก้าวไกลจะเข้าร่วมประชุมด้วยอยู่แล้ว จะช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งจะต้องยึดกรอบที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เมื่อถามว่าการนัดประชุมวันที่ 22 ส.ค. 2566 นี้จะเรียบร้อย ได้ตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายวันนอร์ตอบว่า รัฐสภามีหน้าที่จัดการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ได้กำหนดวันเลือกไว้เรียบร้อย ส่วนจะเสร็จไหม ขึ้นอยู่กับที่ประชุม
ส่วนที่สว.บางรายอยากให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมรัฐสภา ประธานรัฐสภาตอบว่า ในข้อบังคับการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดให้แสดงวิสัยทัศน์ และในการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 ก็ไม่ได้ให้แสดงวิสัยทัศน์ เพราะบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ สส.และตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอเป็นใคร เป็น สส.ไหม ก็ให้เตรียมแนวทางเอาไว้
เมื่อถามอีกว่า ในฐานะประธษนรัฐสภาเห็นด้วยกับการให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ นายวันนอร์กล่าวว่า ไม่สามารถกำหนดได้ แต่เมื่อกฎหมายและข้อบังคับไม่ได้กำหนดอะไรไว้ ก็ขึ้นอยู่กับสภาฯ จะเห็นสมควรอย่างไร และขึ้นอยู่กับว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนนั้น อยู่ไหน ถ้าพร้อมแสดงวิสัยทัศน์ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่มองว่า น่าจะไม่สะดวก และได้สอบถามฝ่ายกฎหมายถึงการร่างข้อบังคับว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำไมไม่ให้แสดงวิสัยทัศน์ ก็ได้คำตอบว่า อาจจะมีบุคคลภายนอกได้รับการเสนอชื่อเข้ามา ซึ่งรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ ดังนั้น ผู้ร่างข้อบังคับจึงไม่ได้ให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต้องแสดงวิสัยทัศน์ อย่างไรก็ดี จะนำเรื่องนี้หารือกับวิป 3 ฝ่ายต่อไป