‘ก้าวไกล’ โดยรังสิมันต์ โรม แถลงไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ปมโหวตนายกฯซ้ำขัดข้อบังคับที่ 41 ของสภาฯ ยันแทน ‘พิธา’ ก็ไม่ยื่น ระบุพรรคจะใช้แนวทางของสภาฯ เสนอญัตติทบทวนมติเดิมอีกครั้งในการโหวตนายกฯครั้งต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนําเสนอญัตติซ้ําอีก ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ไปพิจารณาในเรื่องของผู้ที่ไปยื่นเรื่องไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะร้อง ในส่วนของพรรคก้าวไกลมีความคิดเห็นว่า กรณีนี้รัฐสภาสามารถพิจารณากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขปรับปรุงนั่นจึงเป็นที่มาว่า พรรคเก้าไกลได้เสนอญัตติให้ทบทวนมติการโหวตนายกรัฐมนตรีซ้ำเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น หากมีการกำหนดวันโหวตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลก็จะเสนอญัตติดังกล่าวอีกครั้ง และการเสนอญัตตินี้ไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง เพราะตอนนี้พักก้าวไกลก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเสนอ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคได้อีกแล้ว แต่ว่า การเสนอญัตตินี้จะทำให้สภาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นเอง เพราะพรรคก้าวไกลยืนยันว่า สถานะของการเป็แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่ว่าใครก็แล้วแต่ เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เสนอกันไปและสุดท้ายไม่ผ่านในรอบแรก ก็เสนอชื่อไม่ได้อีก การพิจาณณาแบบนี้เป็นการเล่นการเมือง ไม่ได้พิจารณาบนข้อเท็จจริงทางกฎหมาย
“เราก็ยืนยันว่าการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือในอนาคตจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีท่านอื่น หากไม่ผ่านการโหวตรอบแรก รอบต่อไปก็ควรจะเสนอได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรจะมีกระบวนการให้รัฐสภาได้ทบทวนกระบวนการต่างๆต่อไป ดังนั้นหากประธานรัฐสภากำหนดวันที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะเสนอญัตตินี้ต่อไป” นายรังสิมันต์กล่าวและว่า
@ไม่ยื่นศาลรธน. ใช้ช่องทางสภาฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญใช่ไหม นายรังสิมันต์ตอบว่า ไม่ยื่นแน่นอน และได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่า แม้พรรคก้าวไกลจะถูกมองเป็นเป้าในการไม่ให้เสนอนายกรัฐมนตรีซ้ำ แต่พรรคก็ยืนยันว่า กิจการตรงนี้เป็นกิจการของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรจะเข้ามาก้าวก่าย เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคเราจึงอยากใช้กระบวนการของรัฐสภาในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น จะไม่เห็นนายพิธาเสนอเรื่องนี้ถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
เมื่อถามว่า แล้วจะรวบรวมเสียงสมาชิกในรัฐสภาเพียงพอที่จะเสนอญัตติดังกล่าวหรือไม่ นายรังสิมันต์ตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของหลักการ การเสนอญัตตินี้ไม่ได้เสนอเพื่อตัวเอง และไม่ได้เสนอเพื่อให้นายพิธากลับมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึง เพราะตอนนี้พรรคก้าวไกลอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเสนอนายพิธาได้อีกแล้ว
ดังนั้น การเสนอญัตตินี้จึงเป็นการเสนอเพื่อยืนยันหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และทุกพรรคการเมืองจะได้รับประโยชน์จากข้อเสนอนี้ทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่ามีบางกลุ่มบางพวกที่คิดเอาไว้แล้วที่จะวางหมากให้การเสนอนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นได้แค่ครั้งเดียว ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1. เพื่อให้พรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลและบางพรรคการเมืองเสนอรายชื่อไม่ผ่านและหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ กับ 2 เป็นการปูทางไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งการเสนอให้มีการโหวตนายกรัฐมนตรีได้แค่ครั้งเดียวน่าจะไม่เป็นไปตามเจตนาที่ดี
เมื่อถามอีกว่า ในการประชุมรอบที่แล้วประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยแล้วว่า การเสนอญัตติดังกล่าวของพรรคก้าวไกลนั้น ไม่สามารถเสนอได้ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ยอมรับว่าตอนนี้มันมีปัญหาว่าสถานะของมตินั้นคืออะไร เพราะการเสนอญัตติดังกล่าวนั้นมีผู้รับรองถูกต้อง แต่ประธานรัฐสภาวินิจฉัยโดยไม่ได้อ้างข้อกฎหมายใดๆ ซึ่งพรรคก้าวไกลพร้อมรับฟังว่า การเสนอญัตติดังกล่าวนั้นขัดกับข้อบังคับหรือกฎหมายข้อใด แต่ในการประชุมครั้งดังกล่าวประธานรัฐสภากล่าวเพียงว่า ให้รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ก็ไม่ได้มีข้อบังคับใดที่ระบุว่าต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเท่านั้น จะทบทวนญัตติไม่ได้ ซึ่งก็เข้าใจในความหวังดีของประธานรัฐสภา แต่ถ้าพิจารณาด้วยเหตุและผลการรอต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่มีความชัดเจนและไม่ถูกต้องจะสร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง
ซึ่งการที่ไม่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ ก็จะทำให้ได้รัฐบาลที่ห่างไกลเสียงของประชาชนไปเรื่อยๆและสุดท้ายอาจจะได้หน้าตาของรัฐบาลที่ไม่ใช่รัฐบาลที่ประชาชนต้องการ อันเป็นการทำลายการเมืองแบบรัฐสภา ประชาธิปไตยและทำลายความหวังของพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า และต้องไม่ลืมว่าในรัฐสภาไม่ได้พิจารณาเฉพาะการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ยังมีการพิจารณาเสนอแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆในองค์กรต่างๆด้วย หากไม่ทบทวนมติดังกล่าว มติที่ไม่ให้เสนอรายชื่อซ้ำอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดังนั้นพรรคก็กลายเป็นความเห็นว่ารัฐสภาควรทบทวนมติดังกล่าวด้วยอำนาจที่เราทำได้อย่าสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆต่อไป
สำหรับขั้นตอนต่อไป กำลังรอหารือกับประธานรัฐสภา ซึ่งตามปกติประธานรัฐสภาจะนัดหมายหารือกับบรรดาพรรคการเมือง แต่จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือกรณีที่ประธานรัฐสภาสั่งปิดประชุมหลังจากมีการเสนอทบทวนญัตติดังกล่าวว่า มีสถานะอย่างไรซึ่งจะต้องมีการพูดคุยหารือกับประธานรัฐสภาว่าจะมีข้อสรุปในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในความเห็นของพรรคก้าวไกลมองว่าเป็นญัตติที่ถูกต้องเพราะมีผู้รับรองตามระเบียบ แล้วต้องถูกบรรจุในวาระ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้นัดกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล ขยายเวลายื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 30 วัน ประเด็นถูกกล่าวหาว่า เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดําเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น
@ขอขยายชี้แจง 112 เพราะฝ่ายผู้ร้องยื่นเอกสารเพิ่ม
นายรังสิมันต์ ตอบว่า เนื่องจากฝ่ายผู้ร้องมีการยื่นเอกสารเพิ่มเติม ทางพรรคและนายพิธาจึงต้องเอาเอกสารดังกล่าวมาพิจารณา เพื่อเขียนคำชี้แจงต่อไป ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการขอขยายเวลาในการทำคำชี้แจงออกไป ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลทำถูกต้องตามกฎหมาย ในการเสนอนโยบายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ทำตามกฎหมายแต่ที่เป็นปัญหาเพราะพรรคก้าวไกลได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่ 1 กระบวนการกลั่นแกล้งการใช้นิติสงครามก็คงไม่มาถึงจุดนี้ และยังไม่กังวลว่าประเด็นนี้จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง
อ่านประกอบ