กสม. ประชุมหารือระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนฯ เตรียมจัดทำข้อเสนอแนะแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2566 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอาเซียน (AICHR Regional Consultation on Business and Human Rights, Environment and Climate Change in ASEAN) จัดโดย ผู้แทนมาเลเซียในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ร่วมกับกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Forum of National Human Rights Institutions: APF) โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป
การประชุมนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น ผู้แทน AICHR หน่วยงานภายใต้อาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงผู้แทนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กสม. อินโดนีเซีย (Komnas HAM) กสม. มาเลเซีย (SUHAKAM) กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) ผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ) และกสม.ไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ในการดําเนินการตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) หรือ UNGPs เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างกระบวนการปรึกษาหารือรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนการพัฒนากรอบแนวคิดว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN Environmental Rights Framework) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ AICHR
ในการนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ในอาเซียน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น และแนวทางระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เกี่ยวกับการริเริ่มด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในอาเซียน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวทางของอาเซียนในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านจากต้นแบบของกลุ่มประเทศยุโรปจากกลไกความตกลง Escazú หรือความตกลงระดับภูมิภาคว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนและการนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของอาเซียน รวมถึงบทบาทการดำเนินงานของ AICHR ในฐานะกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญคือ ที่ประชุมมีแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีกระบวนการปรึกษาหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเป็นข้อมูลสําหรับการพัฒนากรอบแนวคิดว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (2) การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของสาธารณะ และ (3) การร้องเรียนและการเข้าถึงการเยียวยาในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย กสม. ไทยได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนให้ผ่านกลไกกลางของอาเซียน ตั้งแต่ชั้นการรับเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ย การเยียวยา ตลอดจนบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับ AICHR ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นการสร้างพื้นที่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้สามารถปรึกษาหารือร่วมกัน และร่วมทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน
ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าวเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ยังได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้และการเรียนรู้จากประสบการณ์การจัดทำความตกลง Escazú และอนุสัญญา Aarhus (อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและการเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม) และความเห็นในประเทศไทยที่มีต่อการพัฒนาตราสารระดับภูมิภาคว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมแสดงความยินดีกับการแสดงบทบาทของศาสตราจารย์เกียรติคุณ อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทย AICHR ซึ่งสอดคล้องกับแผนการทำงานในประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมของ กสม. ได้แก่ การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสมัชชาสิ่งแวดล้อมใน 7 ภูมิภาคของไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้แทนภาคประชาสังคมเกี่ยวกับกรอบแนวคิดที่ปรากฏในความตกลง Escazú และอนุสัญญา Aarhus รวมถึงแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย
“สำหรับบริบทของไทย กสม. มีแผนที่จะจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับแก้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้มีบทบัญญัติที่พูดถึงสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to a healthy environment) ซึ่งเป็นแนวทางในการปกป้องคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในสังคมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของพวกเขา” นางสาวศยามล กล่าว