อีอีซี ศึกษาปั้น TOD สถานีพัทยา เพิ่มมูลค่าไฮสปีด 3 สนามบิน เผยไทม์ไลน์จะสรุปผลการศึกษาให้ได้ในเดือน ก.ย. 66 ชูฮับขนส่งสาธารณะ วางรัศมีการพัฒนาพื้นที่ครอบคุม 500 เมตร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)ได้จัดการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 : สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา โครงการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานี เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ณ ห้องประชุม โรงเรียนบ้านรถไฟ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
นายวรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และ TOD สกพอ. เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)
ซึ่งหนึ่งในการต่อยอดการพัฒนารถไฟความเร็วสูงให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง หรือ TOD ให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม พร้อมไปกับการสร้างให้พื้นที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยแนวทางการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีขนส่งหรือ TOD จะเป็นการวางแผนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยเน้นความสมัครใจและความสนใจร่วมโครงการฯ โดยไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน
โดย สกพอ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานี เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง 2 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา จังหวัดชลบุรี และ สถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีแนวคิดการพัฒนาเบื้องต้น ดังนี้
@ชูเป็น Transportation Hub
พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครอบคลุมระยะ 500 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา ครอบคลุม 2 ชุมชนสำคัญ ได้แก่ ชุมชนรุ่งเรือง (เมืองพัทยา) และชุมชนหนองใหญ่ (เทศบาลเมืองหนองปรือ) อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาของจังหวัดชลบุรี คือ เมืองนวัตกรรมชั้นนำ สร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน และ วิสัยทัศน์ของเมืองพัทยา คือเมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน อันเป็นการผสมผสานการพัฒนาสู่อนาคตเพื่อความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำแนวคิดนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบและพัฒนาพื้นที่รอบสถานีพัทยาให้เป็น Transportation hub ประกอบด้วย
พื้นที่สาธารณะพื้นที่พาณิชยกรรมและกิจกรรมต่างๆของชุมชน (Community complex) พื้นที่สำหรับจอดรถบัสนักท่องเที่ยวและโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ด้วยระบบขนส่งมวลชนรองท้องถิ่น เช่น รถสองแถว กับสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา เป็นต้น เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างสมดุล มีคุณภาพ และชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีฯอย่างแท้จริงและ“พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา”มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครอบคลุมระยะ 500 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา มีแนวคิดการพัฒนาที่มีศักยภาพเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีและมีคุณภาพสูงซึ่งใช้ประโยชน์จากโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูง และคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดด้วย
ในอนาคตเมื่อโครงการแล้วเสร็จและเกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง (TOD) ของทั้ง 2 สถานี จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการดึงดูดการลงทุนและพัฒนากิจการเป้าหมายร่วมกับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ดังกล่าว โดยท้องถิ่นและชุมชนจะเกิดการพัฒนาแหล่งงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้น การพัฒนาสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับแนวคิดการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น ถนน ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สาธารณะ และเพิ่มมูลค่าที่ดินในอนาคต ส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในขณะที่ เจ้าของที่ดินและผู้อยู่อาศัยในเขตส่งเสริมฯ มีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจการพัฒนาที่มีแนวทางหลากหลายยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงกรรมสิทธิ์ที่ดิน สิทธิการพัฒนาและเข้าร่วมดำเนินการ โดยได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวที่คุ้มค่าและเหมาะสม ส่วนผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุนจาก EEC
@สรุปผลการศึกษา ก.ย. 66
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมครั้งนี้ สกพอ.จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการนำร่อง และรูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของเจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้องและพิจารณาเพื่อประกอบการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยจะรับฟังความเห็นประชาชนแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2566