กสม.ชี้การตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดนักศึกษาแบบเหมารวมและไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดสิทธิฯ - ตรวจสอบกรณีบ่อขยะเทศบาลเมืองอ่างทองล้น กระทบสุขอนามัยของชุมชน ย้ำ อบต. เจ้าของพื้นที่ต้องกำกับดูแลเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 34/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
กสม. ชี้การตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดของนักศึกษาในลักษณะเหมารวมและไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ป.ป.ส. ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักสิทธิเด็กอย่างเคร่งครัด
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2565 ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ฝ่ายปกครองจังหวัดอุดรธานี โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี ได้ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติด รวมประมาณ 1,000 คน โดยไม่ชัดเจนว่ามีกรณีจำเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดเสพยาเสพติด กสม. พิจารณากรณีดังกล่าวแล้วเห็นว่า อาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีมติเห็นสมควรให้มีการตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาคำร้อง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนและคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของบุคคลถือเป็นการกระทำที่อาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจในการตรวจหาสารเสพติดได้ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุดังกล่าว ได้กำหนดเงื่อนไขเป็นหลักการในลักษณะที่คล้ายกัน ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดตรวจหรือทดสอบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกายได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็นและมีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเสพยาเสพติดเท่านั้น
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 เป็นการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติด ตามโครงการจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษา (CAMPUS SAFETY ZONE) โดยไม่ได้ขอความยินยอมจากนักศึกษาเป็นการล่วงหน้า กสม. เห็นว่า แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีเจตนาที่ดีในการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษา เพื่อป้องปรามไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและค้นหานักศึกษาที่ใช้สารเสพติดนำเข้าสู่ระบบการรักษาและบำบัด แต่เมื่อการตรวจหาสารเสพติดดังกล่าวเป็นการกระทำในลักษณะบังคับและไม่ได้ขอความยินยอมก่อน และยังมีลักษณะเป็นการเหมารวมเฉพาะกลุ่มบุคคลโดยไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ
นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 กสม. เคยให้ความเห็นในเรื่องที่มีลักษณะคล้ายกันกรณีการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ซึ่งเป็นการตรวจปัสสาวะในลักษณะเหมารวมเฉพาะกลุ่มบุคคล โดยไม่มีเหตุอันควรเชื่อตามกฎหมายว่ามีบุคคลเสพยาเสพติดให้โทษว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษาในลักษณะเหมารวม จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายเช่นกัน ในชั้นนี้จึงเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดให้โทษประเภท 1 (แอมเฟตามีน) สรุปได้ดังนี้
ให้กำชับเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือบุคคลจากหน่วยงานอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ในปัจจุบันอย่างเคร่งครัด กรณีมีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายว่าบุคคลนั้นเสพยาเสพติดให้โทษ และในกรณีขอความร่วมมือในการตรวจหาสารเสพติดจากปัสสาวะต้องแจ้งความประสงค์ในการดำเนินการกับผู้นั้นอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการขอความยินยอมก่อนการดำเนินการและต้องได้รับความยินยอมโดยอิสระจากผู้จะถูกตรวจปัสสาวะโดยไม่มีเงื่อนไข และการให้ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและมีถ้อยคำที่ไม่กำกวม แยกออกจากส่วนอื่นได้อย่างชัดเจนในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย ใช้ภาษาที่ชัดเจนและไม่ซับซ้อน และผู้ให้ความยินยอมสามารถยกเลิกความยินยอมได้ทุกเมื่อ อันสอดคล้องและเป็นไปตามหลักการให้ความยินยอมโดยอิสระเป็นมาตรฐานสากลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation: GDPR)
นอกจากนี้ในกรณีที่มีเหตุอันจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดในกลุ่มบุคคลที่เป็นเด็ก จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลของเด็กที่จะถูกตรวจปัสสาวะร่วมด้วย ซึ่งการดำเนินการนั้นต้องกระทำไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและการดำเนินการนั้นต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วย
กสม. ตรวจสอบกรณีบ่อขยะเทศบาลเมืองอ่างทองรับปริมาณขยะเกินศักยภาพ กระทบสุขอนามัยของชุมชน เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่า ศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองอ่างทอง ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านโตนด ตำบลเทวราช อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ประมาณ 89 ไร่ ซึ่งรับกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง ขาดการดูแลและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีระบบบำบัดน้ำชะขยะมูลฝอย และบ่อติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดิน ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบมานานหลายปี อีกทั้งน้ำจากขยะได้ไหลลงบนพื้นถนนทำให้เกิดอุบัติเหตุ และรถบรรทุกขยะขับเร็วทำให้ขยะร่วงหล่นตามพื้นถนน แม้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือแนวทางแก้ไขปัญหา แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้รับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสิทธิชุมชนอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 (2) (3) และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550 มาตรา 5 ได้บัญญัติรับรองไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบปรากฏว่า เทศบาลเมืองอ่างทองได้ดำเนินการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในเขตท้องที่ไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมของเทศบาลฯ ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทวราช ซึ่งพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมีแหล่งน้ำสาธารณะไหลผ่านในระยะใกล้ ด้านโครงสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเป็นสถานที่กำจัดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและถูกสุขลักษณะ แต่เมื่อศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมแห่งอื่นในจังหวัดอ่างทองถูกปิดเนื่องจากไม่ถูกหลักวิชาการและสุขลักษณะ เป็นเหตุให้ภายในจังหวัดอ่างทองเหลือเพียงศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองอ่างทองแห่งเดียว
ราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอ่างทอง จำนวน 64 แห่ง จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนำขยะไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองอ่างทองด้วยการคิดค่าบริการ แม้จะเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยส่วนรวม แต่ปริมาณขยะที่รับมาเกินขีดความสามารถของศูนย์กำจัดมูลฝอยแห่งดังกล่าว ทำให้ปริมาณขยะล้นหลุมจนไม่สามารถฝังกลบตามหลักสุขาภิบาลได้ จึงต้องดำเนินการด้วยวิธีเทกอง ทำให้เกิดปัญหาด้านทัศนียภาพและสุขลักษณะ เช่น กลิ่นเหม็น แมลงวันรบกวน น้ำขยะรั่วไหลจากรถบรรทุก แม้เทศบาลเมืองอ่างทองได้ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เช่น การฉีดพ่นจุลินทรีย์ดับกลิ่นทุกวัน ห้ามรถบรรทุกขยะวิ่งเร็วเกินมาตรฐานที่กำหนด และล้างถนนโดยเน้นบริเวณทางแยก/ทางโค้งเป็นประจำแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา กสม. จึงเห็นว่า เทศบาลเมืองอ่างทองบริหารจัดการศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน ส่งผลต่อการดำรงชีวิตตามปกติสุขและมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และสุขภาพในระยะยาว อันกระทบต่อสิทธิที่จะดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ กสม. ยังเห็นว่า อบต. เทวราชซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดในการควบคุมดูแลให้ศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองอ่างทองดำเนินการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูล ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อ อบต. เทวราชได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีนี้จากประชาชน กลับดำเนินการเพียงประสานแจ้งไปยังเทศบาลเมืองอ่างทองให้ทราบและหามาตรการในการป้องกันเหตุเท่านั้น ดังนั้น จึงเห็นว่า นายก อบต. เทวราชมิได้บังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่และอำนาจแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาตลอดจนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อเทศบาลเมืองอ่างทอง นายก อบต. เทวราช จังหวัดอ่างทอง และกระทรวงมหาดไทย สรุปได้ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
1.1) ให้เทศบาลเมืองอ่างทอง ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด บริหารจัดการและปรับปรุงแก้ไขศูนย์กำจัดมูลฝอยให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล เช่น ทำคันดินแยกระหว่างขยะเก่าสะสมกับขยะใหม่ให้มีความชัดเจน เร่งรื้อร่อนขยะเก่าสะสมและจำหน่ายให้หน่วยงานเอกชนไปกำจัด ซ่อมแซมบ่อบำบัดน้ำเสียที่ชำรุด ปรับปรุงระบบรางระบายน้ำผิวดินและระบบบำบัดน้ำชะมูลฝอย เป็นต้น
1.2) ให้นายก อบต. เทวราช ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อระงับเหตุรำคาญจากศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเทศบาลเมืองอ่างทอง ตลอดจนดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา ถนน ทางน้ำ รางระบายน้ำ คู คลอง ให้ปราศจากเหตุรำคาญตามข้อร้องเรียน รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังมิให้มีน้ำเสียจากศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หากเกิดปัญหาดังกล่าวจะต้องมีมาตรการตรวจสอบและป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเร่งด่วน และจะต้องมีการฟื้นฟูแหล่งน้ำสาธารณะที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวด้วย
1.3) ให้กระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลการดำเนินการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอ่างทองให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้จังหวัดอ่างทองร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทบทวนแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัด และจัดหาสถานที่กําจัดมูลฝอยรวมที่เหมาะสมเพื่อรองรับปริมาณขยะมูลฝอยให้ถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบและเป็นไปตามเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เนื่องจากศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองอ่างทองถูกออกแบบรองรับปริมาณขยะมูลฝอยเฉพาะในเขตท้องที่ของผู้ถูกร้องในระยะเวลา 20 ปี เท่านั้น โดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อป้องกันปัญหาขยะมูลฝอยในเขตจังหวัดอ่างทองในระยะยาวและเกิดความยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ (SDGs) เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน เป้าหมายย่อย 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573