“...สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ทาง กทม. พยายามที่จะทำในทุกส่วนในทุกมิติให้เร็ว แต่ก็ยังมีความผิดพลาดล่าช้าในบางพื้นที่ แม้ติดตามแก้ไขให้ในภายหลังแต่ความเสียหายและความไม่สะดวกได้เกิดขึ้น ขออภัยทุกคนจริงๆ พวกเราจะพยายามทำงานให้รอบคอบกว่านี้ และประสานสรรพกำลังล่วงหน้าให้มากขึ้นอีก จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นให้เร็วที่สุด…”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 ก.ย. 2565 น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Tavida Kamolvej’ ว่า เรามาเข้าใจกระบวนการของการบริหารจัดการในภาวะเร่งด่วนของสาธารณภัยกัน จะได้ทราบว่าหน่วยงานมีการทำงานร่วมกันอย่างไรบ้างข้ามกระทรวงและข้ามพื้นที่
พื้นที่ภัยพิบัติ ต้องให้กรมสาธารณภัยประกาศ
คำถามที่ 1 ทำไมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย ทั้งที่มีอำนาจในฐานะผู้อำนวยการสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร
ตอบ การประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงเป็นการประกาศเพียงขอบเขตพื้นที่ที่มีภัยเกิดขึ้น แต่หากการจะใช้งบประมาณตาม พ.ร.บ.เงินทดลองราชการ จำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลภัย ขอบเขตพื้นที่ ลักษณะการเกิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นในรายแขวง ตำบล เขต อำเภอ และต้องอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการประกาศ "เขตการให้ความช่วยเหลือ" เพื่ออนุมัติการใช้งบประมาณให้ความช่วยเหลือ
ดังนั้น ควรประกาศไปโดยพร้อมกันจะได้ประโยชน์และเร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย ส่งทีมมาประกบทำงานร่วมกันเพื่อเร่งรัดเต็มที่
พยายามประสานกรมชลฯ ช่วยประชาชนแล้ว
คำถามที่ 2 แล้ว กทม. ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรประชาชนได้ด้วยตัวเองเลยหรืออย่างไร
ตอบ นอกจากความพยายามในการระบายน้ำให้ได้เร็วที่สุด โดยประสานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ในการกำกับเครื่องสูบน้ำในจุดต่างๆ โดยเฉพาะในจุดวิกฤต ที่อาจจะมีเครื่องมือบางอย่างที่ทำงานมาตลอด 24 ชั่วโมงแล้วมีหยุดไปบ้าง ก็ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกรมป้องกันฯ กรมชลประทาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้พยายามร่วมกันทำแผนการระบายน้ำที่กรุงเทพมหานครเองต้องไม่ให้เกิดผลกระทบไปยังพื้นที่ปริมณฑลที่มีปริมาณฝนหนักหน้าไม่แพ้กันด้วย ดังนั้นจึงต้องทำงานกับกรมชลประทานมาอย่างใกล้ชิด ในการวางแผนการปล่อยน้ำในระดับที่ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ที่ กทม. จะสามารถช่วยทำคันกั้นบางส่วนให้ได้ทันหากจะมีการเอ่อล้นมา และพยายามลดระดับน้ำต้นทางที่สูงตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างตามจังหวะที่ทำได้ตลอด 24 ชม.
เพิ่มเติม ส่วนการให้ความช่วยเหลือนั้น ระหว่างรอการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการทำเรื่องไปที่กรมป้องกัน กทม. ได้เร่งนำงบประมาณเหลือจ่ายที่มีอยู่ออกมาจัดความช่วยเหลือเต็มกำลัง ทั้งในการจัดกระสอบทราย ถุงยังชีพ การจัดสรรยาที่จำเป็น และสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างที่ระเบียบเอื้ออำนวย และสั่งการให้สำนักงานเขตจัดตั้งศูนย์พักพิง ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ จุดให้บริการ (มีน้องๆจากอาชีวะมาร่วมกับกองเครื่องกล กทม. ด้วย ขอบคุณมาก) การต่อสะพานไม้ให้ชุมชน และการให้นำหาบหามไปช่วยดูดน้ำในบางชุมชน
ลอกท่อแล้ว แต่ฝนตกมาก
คำถามที่ 3 กรุงเทพมหานครมีการพร่องน้ำในคลองไว้ก่อนแค่ไหน และมีการกั้นน้ำมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่เริ่มต้น
ตอบ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน กทม. ได้รับคำเตือนจาก สทนช. และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่น้ำเหนือและฝนจะชุกกว่าปรกติตั้งแต่เดือนกันยายน ไม่ใช่ตุลาคม กทม. จึงเร่งการลอกคูคลองและระบบท่อของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถรองรับได้เต็มศักยภาพของท่อ คือ 60 มม. (แต่ในช่วงที่ผ่านมา แต่ละวันมีฝนที่ตกลงมาเกินกว่า 100 มม. ติดต่อกันจนมีระดับน้ำฝนสะสมเกินกว่าค่าเฉลี่ยฝน 30 ปีไปมาก) ไปได้ถึงกว่าสามพันกิโลเมตร แนวคันกั้นน้ำเหลือฟันหลออีกประมาณ 3 กิโลเมตรที่ กทม. กำลังดำเนินการต่อเนื่องในอีก 1.5 กม. ส่วนอีก 1.5 กิโลเมตรได้เตรียมกระสอบทรายไว้เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้น้ำเหนือที่ลงมาในช่วงนี้ กทม. ยังสามารถที่จะรับได้ แต่ปริมาณน้ำฝนที่มาก ที่ตกเหนือคลองใน กทม. ด้วย ทำให้การระบายน้ำทำได้ช้ามาก ตลอดจนปริมณฑลที่ต่อเนื่องอาทิเช่น รังสิต สมุทรปราการ ก็มีสถานการณ์อุทกภัยอยู่เช่นกัน การระบายน้ำที่ต่อเนื่องกันจึงต้องทำร่วมกัน ค่อยแบ่งเบาซึ่งกันและกันด้วย
ส่วนข้อความต่อไป ไม่ได้มีคนถาม แต่อยากขออนุญาตสื่อสารว่า สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ทาง กทม. พยายามที่จะทำในทุกส่วนในทุกมิติให้เร็ว แต่ก็ยังมีความผิดพลาดล่าช้าในบางพื้นที่ แม้ติดตามแก้ไขให้ในภายหลังแต่ความเสียหายและความไม่สะดวกได้เกิดขึ้น ขออภัยทุกคนจริงๆ พวกเราจะพยายามทำงานให้รอบคอบกว่านี้ และประสานสรรพกำลังล่วงหน้าให้มากขึ้นอีก จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นให้เร็วที่สุด