กสม.ลงพื้นที่ จ.ตราด หารือผู้ว่า ถกปมคนไทยพลัดถิ่นยังไร้สัญชาติกว่า 1,869 คน สแกนพบหลายปัญหาอุปสรรค อาทิ เอกสารตกหล่น, คนขึ้นทะเบียนไม่มีความรู้-ค่าตรวจ DNA สูง แนะแก้กฎหมาย ระเบียบ ฝ่าทางตันต่อไป
วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 – 10 มิถุนายน 2565 คณะของ กสม.และกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์และประชุมหารือร่วมกับนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ผู้แทนกรมการปกครอง และเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กว่า 300 คน ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานะของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ณ จังหวัดตราด
กสม. ได้รับรายงานว่า กรมการปกครองได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น โดยสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนของผู้ที่มีเชื้อสายไทยที่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับ
การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามกฎหมาย จำนวน 17,903 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระนอง ทั้งนี้ กรมการปกครองได้อนุมัติสัญชาติไทยให้แก่กลุ่มดังกล่าวไปแล้วกว่าร้อยละ 70 เฉพาะในพื้นที่จังหวัดตราดได้รับการรับรองสถานะเป็นคนไทยพลัดถิ่นแล้ว จำนวน 3,079 คน อย่างไรก็ดี ยังคงเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นอีกถึง 1,869 คน
สารพัดปัญหาทำขึ้นทะเบียนสัญชาติยาก
จากการรับฟังสถานการณ์ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดตราด พบว่ามีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ประสบปัญหาในการขอสถานะ อาทิ กลุ่มที่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานแล้วแต่ตกหล่นหรือถูกจำหน่ายทางทะเบียน กลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นเอกสารเลยเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นคำขอและเงื่อนไขตามกฎหมาย ขณะที่บางกลุ่มไม่มีเอกสาร หลักฐานหรือเครือญาติตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้
สำหรับอุปสรรคในการพิจารณารับรองสถานะ อาทิ ความยุ่งยากของขั้นตอนในการพิจารณา ซึ่งต้องใช้พยานหลักฐานจำนวนมาก ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และผังเครือญาติ ความล่าช้าในการดำเนินการระดับพื้นที่ ซึ่งทำให้จำนวนคำขอที่จะส่งต่อให้คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นของกรมการปกครองพิจารณารับรองมีจำนวนน้อยและไม่ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดหากจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรม DNA เพื่อพิสูจน์ความเชื่อมโยงเครือญาติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้คนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้ ขณะที่จำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับอำเภอเพื่อรับคำขอและดำเนินการตามกระบวนการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นมีจำนวนไม่เพียงพอกับปริมาณคำขอ อีกทั้งมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง ทำให้การปฏิบัติงานขาดความต่อเนื่อง และขาดผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
เสนอ กรมการปกครอง แก้ระเบียบ-กฎหมาย
การนี้ กสม. ได้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ซึ่งได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการในจังหวัดแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น โดยให้ทุกอำเภอในจังหวัดตราดเร่งสำรวจและจัดทำข้อมูลทะเบียนสถานะแก่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ยังคงตกค้างและกลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงให้จัดทำแผนดำเนินงานและเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นร่วมกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเสนอให้กรมการปกครองพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลไกการพิจารณารับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่สร้างภาระแก่ผู้ยื่นคำขอเกินจำเป็น ทั้งนี้ อาจจัดทำฐานข้อมูลหรือระบบการดำเนินงานในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูล ติดตาม และประเมินผลการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้แก่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นได้อย่างเป็นระบบ
“สิทธิในสถานะบุคคลเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องให้การรับรอง เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ได้ อาทิ สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล เสรีภาพในการเดินทาง และการได้รับความคุ้มครองทางสังคมในการทำงาน ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์ของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เพื่อประสานการคุ้มครองและส่งเสริมให้รัฐดำเนินมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและประกันสิทธิของบุคคลทุกคนในประเทศตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว