กสม.สรุป 10 ปี บังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พบขึ้นทะเบียนสัญาติไทยคนพลัดถิ่นแล้ว 10,000 คน เหลืออีก 8,000 คน นอกจากนั้น ยังมีชาวมุสลิมอีก 25,000 คนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ร่วมกับมูลนิธิชุมชนไท ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคมและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักข่าว The reporter และสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส สนับสนุนกิจกรรม สรุปบทเรียน 20 ปี เครือข่าย ฯ 10 ปี กฎหมายฯ เส้นทางสู่ความเป็นพลเมืองไทย ของเครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทยหรือคนไทยพลัดถิ่น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียน ปัญหา ความท้าทาย และความสำเร็จในการทำงานของเครือข่าย ฯ และสรุปบทเรียน 10 ปี ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555) ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวและรับฟังความคิดเห็นจาก สมาชิกเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นกว่า 400 คนจาก 4 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร และพังงา และได้ร่วมกับนายสมยศ พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมผู้แทนภาคีความร่วมมือมอบบัตรประชาชนให้แก่คนไทยพลัดถิ่นจำนวน 52 คน ด้วย
จากการลงพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมและรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
-
คนไทยพลัดถิ่นเป็นผู้มีเชื้อสายไทย ที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต และปัจจุบันคนกลุ่มนี้ได้อพยพกลับเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศแล้วนานกว่า 20 ปี มีการสำรวจขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการคืนสัญชาติไทยให้ครบถ้วน จึงเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้น กรมการปกครองควรเร่งการคืนสัญชาติให้คนกลุ่มนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
-
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 ( พ.ศ 2555) กรมการปกครองได้ขึ้นทะเบียนคนไทยพลัดถิ่นไว้ประมาณ 18,000 คน คืนสัญชาติได้ประมาณ 10,000 คน โดยมีผู้ที่ยังไม่ได้คืนสัญชาติกว่า 8,000 คน ขณะที่เครือข่ายฯ ให้ข้อมูลว่ายังมีผู้ผิดหลงทางทะเบียน ผู้ถูกจำหน่าย ผู้ตกสำรวจ เด็กที่เกิดใหม่ และกลุ่มมุสลิมที่ยังไม่ชัดเจนในการจัดกลุ่ม อีกจำนวนกว่า 25,000 คน ดังนั้น กรมการปกครองและสภาความมั่นคง ควรดำเนินการสำรวจจำนวนผู้ตกค้างให้เกิดความชัดเจนโดยใช้กระบวนการสำรวจแบบมีส่วนร่วมของเครือข่าย ฯ องค์กรชุมชน/ท้องถิ่น
-
กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เป็นเครือข่ายของคนไร้สัญชาติ ที่รวมกลุ่มรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งต่อเนื่องและยาวนาน รวมทั้งมีกระบวนการติดตาม ทวงถามการแก้ปัญหามาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและมุสลิม มีการช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันกัน จึงเป็นรูปธรรมของการอยู่ร่วมกันของชนต่างวัฒนธรรมที่น่ายกย่อง
-
นักวิชาการชี้ว่า บทเรียน10 ปีของการบังคับใช้กฎหมายสัญชาติฉบับที่ 5 ยังมีปัญหาอุปสรรค เนื่องจากการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และการไม่กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในกระบวนการพิสูจน์ อีกทั้งคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเขียนคำขอพิสูจน์ฯ และอาจเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตเรียกรับเงินสินบน
-
ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ของการรอคืนสัญชาติไทย กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ไม่มีสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวมทั้งการเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย
นางปรีดากล่าวว่า กฎหมายคืนสัญชาติให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งมีสาระเพิ่มบทนิยามคนไทยพลัดถิ่น และให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ถือเป็นความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในแง่หนึ่งแล้ว หน่วยราชการควรเร่งดำเนินการและบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ โดยต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย
“กสม. มีแผนดำเนินการเรื่องคนไทยพลัดถิ่น โดยสนับสนุนการศึกษาปัญหาและทางออกของกฎหมายรวมถึงระเบียบและแนวปฏิบัติที่มีข้อจำกัด รวมทั้งการศึกษาสำรวจผู้มีปัญหาติดขัดในการยื่นคำขอฯ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยจะมีการหารือกับกรมการปกครองและสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว