โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ ห่วงใยประชาชนได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง จัดกำลังพลเป็นเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ สายด่วน สปสช. 1330 เพิ่ม 200 คู่สาย เร่งบรรเทาความเดือดร้อน ดูแลประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีคำสั่งให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) จัดกำลังพลสนับสนุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปฏิบัติหน้าที่รับสายด่วนของ สปสช. (1330) ซึ่งมีปริมาณผู้โทรเข้ามาจำนวนมาก เพื่อช่วยเร่งนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบ ให้ประชาชนเข้าถึงการดูแล และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน
นายธนกร กล่าวว่า ศปม. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสายด่วน ศปม. สนับสนุน สปสช. (1330) จำนวน 200 คู่สาย โดยแบ่งเป็น กองบังคับการ ศปม. 40 คู่สาย ศปม.กองทัพบก 80 คู่สาย ศปม. กองทัพเรือ 40 คู่สาย และ ศปม. กองทัพอากาศ 40 คู่สาย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 สปสช. ได้จัดการอบรมและซักซ้อมการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่สายด่วน และการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ สปสช.
โดย สปสช. มีแนวทางการปฏิบัติเป็นคู่มือ มีรายละเอียดของหน่วยงานที่จะต้องประสานส่งต่อข้อมูล มีกลุ่มไลน์ของผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ และรับเคสที่มีความซับซ้อนไปดำเนินการต่อ รวมทั้งมีช่องทางประสานส่งต่อเคสด่วนไปยัง 1669 โดยแต่ละเหล่าทัพจัดสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และคอมพิวเตอร์ ให้เพียงพอกับการปฏิบัติภารกิจ
“กำลังพลที่เข้ามาช่วยเหลือจะปฏิบัติภารกิจตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ของทุกวัน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีขีดความสามารถในการบันทึกข้อมูล มีทักษะการพูดคุยที่สุภาพ อดทน ใจเย็น นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานสายด่วน ศปม.ได้จัดผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติ พร้อมมีการชี้แจงการปฏิบัติให้กับกำลังพลเมื่อมีการหมุนเวียน ประสานการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และกำหนดให้รายงานผลการปฏิบัติตามวงรอบที่กำหนด และสรุปปัญหาข้อขัดข้อง เพื่อแก้ไขให้การปฏิบัติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายธนกร กล่าว