สภาองค์กรของผู้บริโภค เร่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัย คัดกรองผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องและมีความเสี่ยงสูงหมดไปจากท้องตลาด หลังพบเด็กกินไส้กรอกไม่ระบุฉลาก ป่วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน 6 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุถึงกรณีพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินว่า จากกรณีเฟซบุ๊ก Ramathibodi Poison Center เตือนอย่ากินไส้กรอกจากแหล่งที่ไม่แน่ชัดหรือไม่น่าเชื่อถือ โดยระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย เพชรบุรี 1 ราย สระบุรี 1 ราย ตรัง 1 ราย และกาญจนบุรี 1 ราย ซึ่งทั้งหมดมีประวัติกินไส้กรอกไม่มียี่ห้อและไม่มีเอกสารกำกับนั้น
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ในอดีตเคยเกิดกรณีในลักษณะดังกล่าวมาก่อนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่มีเด็กกินไส้กรอกและป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน ท้ายที่สุดเสียชีวิตลง จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นทั้งในอดีตและยังเกิดซ้ำรอยอีกในปัจจุบันเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าระบบการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังต้องมีการพัฒนาเพื่อเตือนภัยผู้บริโภคให้ทันเหตุการณ์
“ทั้งที่ผ่านมาแล้วหลายปี และระบบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ของ อย. ที่ออกมาก็น่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยทำให้ปัญหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องและมีความเสี่ยงสูงหมดไปจากท้องตลาด แต่ปัญหาเดิมก็ยังกลับมาเกิดซ้ำจนทำให้มีผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการกินไส้กรอก ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายและไม่ขออนุญาตอยู่ในสังคมไทยอีกหรือ” ภก.ภาณุโชติ กล่าว
ภก.ภาณุโชติ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวสามารถระบุจังหวัดที่มีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินและยังมีข้อมูลที่พบด้วยว่าไส้กรอกไม่มีฉลาก ซึ่งหากสอบสวนข้อมูลด้วยระบบติดตามสินค้าหลังอนุญาตให้วางจำหน่าย (Post-Marketing) โดยส่งต่อข้อมูลกลับไปยังจังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้ติดตามต้นตอและแหล่งผลิตได้ นอกจากนี้ยังอาจจะพบว่าระบบการเฝ้าระวังส่วนใดที่ยังมีช่องโหว่อยู่ ซึ่งจะทำให้ อย. สามารถอุดรูรั่วและพัฒนาระบบการเฝ้าระวังเตือนภัยให้รวดเร็วและทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้นได้
ทั้งนี้ สอบ. ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่แทนผู้บริโภค มีข้อเรียกร้องไปยัง อย. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และข้อแนะนำไปยังหน่วยงานอื่นและผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ดังนี้
1. เรียกร้องให้ อย. ประสานข้อมูลกับพื้นที่และพัฒนาระบบเฝ้าระวังและระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์มากยิ่งกว่านี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นซ้ำอีก โดยมีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1.1 เชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค นอกจากนี้ยังต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับสถานพยาบาลที่มักเป็นแหล่งที่มีผู้ป่วยจากการกินหรือใช้ผลิตภัณฑ์อันตรายเข้ารักษาตัวด้วย
1.2 นำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดระบบการเฝ้าระวังและตรวจจับอัตโนมัติ (Auto Detection) เพื่อนเตือนภัยผู้บริโภคได้ทันเหตุการณ์หากเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย
1.3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง โดยใช้เทคโนโลยีที่ง่าย ไม่ซับซ้อนและส่งต่อข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. มีการส่งต่อข้อมูลจากสถานพยาบาลไปยังจังหวัดที่พบเด็กป่วยจากการกินไส้กรอกและให้จังหวัดเหล่านั้นตรวจสอบต่อว่าพิสูจน์ว่าโรงงานผลิตไส้กรอกที่มีอยู่ในจังหวัดขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ และ ไส้กรอกที่ผลิตใส่สารกลุ่มไนเตรทหรือไนไตรท์เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากพบว่าผิดกฎหมายจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิต ซึ่งไม่ควรทำเพียงแค่การตักเตือน เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับอันตรายจากการกินอาหารอันตรายเข้าไป
3. ผู้บริโภคจะต้องไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากระบุอยู่ และต้องให้ข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลให้กับบุตรหลานและผู้บริโภครายอื่น ๆ อีกทั้งยังต้องช่วยกันเฝ้าระวังและส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบติดตาม
ภก.ภาณุโชติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าระบบการคุ้มครองผู้บริโภคยังมีช่องโหว่อยู่มาก ทั้งที่หน่วยงานมีความพยายามในการพัฒนาระบบที่ให้ผู้ผลิตสามารถขออนุญาตเลข อย. ได้รวดเร็วขึ้น โดยที่มีความเชื่อว่าผู้ผลิตจะทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่สุดท้ายก็ยังมีผู้ผลิตที่ทำผิดกฎหมายจนทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายอยู่
โดยปกติแล้วอาหารแปรรูปจำพวกเนื้อสัตว์ อาทิ ไส้กรอก กุนเชียง หรือแหนม จะต้องใส่ไนเตรทและไนไตรท์ ที่เป็นวัตถุกันเสียเพื่อให้อาหารมีสีแดงอมชมพู คงสภาพอยู่ได้นาน และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ‘คลอสทริเดียม โบทูลินัม’ ซึ่งเป็นสารพิษที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่ประเด็นที่เกิดขึ้น คือ หากมีการใช้ในปริมาณที่เกินกำหนดจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวได้ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมักเท่านั้น และใช้ได้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น คือ ‘ไนเตรท’ ใส่ได้ไม่เกิน 500 มก. ต่อผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก 1 กก. และ ‘ไนไตรท์’ ใส่ได้ไม่เกิน 125 มก. ต่อผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก 1 กก. หากใส่เกินปริมาณที่กำหนดนี้จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ส่วนกรณีที่ใช้ทั้งไนเตรทและไนไตรท์ กำหนดให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มก. ต่อ 1 กก.