ป่วยโควิด 3,174 ราย รวมสะสม 228,539 ราย เสียชีวิตอีก 51 ราย ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักพุ่ง สั่งกทม.เร่งขยายเตียงไปซียู เผยวันนี้ถกข้อเสนอล็อกดาวน์กทม. ชี้หากปิดหวั่นคนกระจายออกต่างจังหวัด ได้ผลสรุปปิดเฉพาะจุด ยังไม่ล็อกดาวน์
----------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 3,174 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,112 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 2,392 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 720 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 36 ราย และอีก 26 ราย เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 228,539 ราย หายป่วยเพิ่ม 1,941 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 37,018 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,526 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 433 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,744 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 51 ราย มาจาก กทม. 34 ราย ปทุมธานีและสมุทรปราการ จังหวัดละ 3 ราย ชลบุรี และนครปฐม จังหวัดละ 2 ราย นนทบุรี ราชบุรี ยะลา ปราจีนบุรี สงขลา สระแก้ว สระบุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 25 ราย มีอายุระหว่าง 29-91 ปี มีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 69 ปี
โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว แบ่งเป็น ความดันโลหิตสูง 34 ราย เบาหวาน 23 ราย ไขมันในเลือดสูง 11 ราย โรคไต 8 ราย หลอดเลือดสมอง 7 ราย โรคหัวใจ 5 ราย โรคอ้วน 4 ราย โรคตับและมะเร็งอย่างละ 3 ราย และไม่มีโรคประจำตัว 5 ราย
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มาจากคนในครอบครัว 19 ราย รองลงมาคือ คนอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ผู้ดูแล เพื่อนร่วมงาน 10 ราย ไปในสถานที่แออัดพลุกพล่าน เช่น เรือนจำ และตลาด 2 ราย ประกอบอาชีพเสี่ยง เช่น ค้าขาย ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง แท็กซี่ ก่อสร้าง 6 ราย อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด 10 ราย และระบุไม่ชัดเจน 4 ราย
โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 956 ราย สมุทรปราการ 501 ราย สมุทรสาคร 240 ราย สงขลา 185 ราย ชลบุรี 142 ราย ปัตตานี 120 ราย ปทุมธานี 93 ราย ราชบุรี 91 ราย นราธิวาส 89 ราย และนครปฐม 79 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากจากต่างประเทศ ทั้งหมด 26 ราย แบ่งเป็น อินเดีย 1 ราย โมซัมบิก 2 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย โดมินิกัน 1 ราย ซาอุดิอาระเบีย 2 ราย เมียนมา 1 ราย และกัมพูชา 18 ราย ซึ่งชาวเมียนมาและกัมพูชา 14 ราย ลักลอบข้ามแดนไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิ.ย.2564 พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 165,673 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 75,966 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 8,148,335 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 5,844,521 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 2,303,814 ราย
คิดความครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล 18.17% จังหวัดอื่นๆ 4.78% และรวมทั้งประเทศ 8.11%
@ กทม. พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่
สำหรับสถานการณ์การระบาดใน กทม. นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 956 ราย และพบคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง ในโรงงานเย็บผ้า เขตบางคอแหลม พบผู้ติดเชื้อ แล้ว 34 ราย และในโรงงานทำจิวเวลรี่ ติดเชื้อแล้ว 46 ราย ทำให้ กทม. ต้องเฝ้าระวัง 96 คลัสเตอร์
@ พบ 6 คลัสเตอร์ใหม่ กระจาย 4 จังหวัด
สำหรับสถานการการระบาดในจังหวัดอื่นๆ ในวันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่ ประกอบด้วย สมุทรปราการ พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ แบ่งเป็น คลัสเตอร์ในโรงงานน้ำแข็ง อ.บางเสาธง ติดเชื้อแล้ว 17 ราย และคลัสเตอร์ในบริษัทก่อสร้าง อ.เมืองสมุทรปราการ ติดเชื้อแล้ว 167 ราย
ขณะเดียวกันสมุทรสาคร พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ แบ่งเป็น คลัสเตอร์ในโรงงานผลิตยางรถยนต์ อ.กระทุ่มแบน ติดเชื้อแล้ว 5 ราย และคลัสเตอร์ในโรงงานอาหารแปรรูป อ.เมืองสมุทรสาคร ติดเชื้อแล้ว 6 ราย
ส่วนจังหวัดปทุมธานี พบคลัสเตอร์ใหม่ในบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อ.หนองแค ติดเชื้อแล้ว 22 ราย และราชบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในค่ายทหาร อ.เมืองราชบุรี ติดเชื้อแล้ว 73 ราย
@ สั่งกทม.เร่งขยายเตียงไปซียู รับสถานการณ์ผู้ป่วยอาการหนักพุ่ง
สำหรับสถานการณ์เตียงที่กรมการแพทย์ออกมาแถลงว่า เตียงของผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงเหลือน้อยเข้าสู่ภาวะวิกฤตนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แนวโน้มผู้ป่วยอาการหนักของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในต่างจังหวัดและในกทม.-ปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่จะพบอยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล
โดยในวันนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,526 ราย ในจำนวนนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 433 ราย กระจายรักษาใน 47 จังหวัด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกทม.อยู่ที่ 210 รายสมุทรปราการ 53 คน นนทบุรี 22 คน ชลบุรี 21 คน ปทุมธานี 20 คน ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีผู้ป่วยอาการหนัก ไม่ถึง 20 คน
ซึ่งเมื่อเช้าในที่ประชุมมีการพูดคุยกันว่า มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้าสู่ระบบการรักษาโซนสีเขียว ซึ่งบางรายอาการไม่มาก โดยทาง ผอ.ศปก.ศบค. มองว่า ถ้าผู้ป่วยส่วนนี้มีการย้ายออกไปอยู่ในส่วนของฮอสพิเทลสามารถทำได้ จึงมอบให้ทาง กทม. พยายามเปิดฮอสพิเทลและให้คนไข้กลุ่มเหล่านี้เข้าไปรักษาตัว เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ดูแลตัวเองได้ หลังจากนั้นเตียงจะว่าง นำมารองรับผู้ป่วยที่มีอาการได้
ส่วนที่สอง คือ ผู้ป่วยสีเหลือ และสีแดง ตอนนี้ศักยภาพของภาครัฐแน่นหมดแล้ว ขณะที่เอกชนไม่มีเตียงว่าง อย่างไรก็ตาม จึงต้องหาหนทางใหม่ อย่างการสร้างบางที่ที่มีโครงสร้างอยู่แล้ว โดยเฉพาะของ อย่างไรก็ตามกทม. ซึ่งมีโรงพยาบาลบางขุนเทียน โรงพยาบาลพลังแผ่นดิน โรงพยาบาลบุษราคัม ฯลฯ ที่มีสถานที่อยู่แล้ว สามารถที่จะปรับให้ยกระดับให้เป็นสีแดงได้หรือไม่ โดยการเพิ่มเครื่องมือเข้าไป ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้กทม.ไปพูดคุย เพื่อการขยายศักยภาพ
ขณะที่บุคลากรจากภาครัฐ ที่ไม่เพียงพอที่จะมาดูแล จะเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เชื่อว่า มีความสามารถในการเข้ามาช่วยดูแลในสถานที่ที่รัฐจัดหาไว้ ซึ่งกลไลการบริหาร อาจจะต่างไปจากปกติ
"เรากำลังเจอสถานการณ์วิกฤติอย่างนี้ ก็จะต้องใช้รูปแบบใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งอาจจะต้องดึงศักยภาพของหน่วยงานเอกชนเข้ามาช่วย ซึ่งก็รวมถึงการสร้าง ICU หรือ สถานที่ดูแลผู้ป่วยหนัก ที่อยู่ภาคสนาม ซึ่งก็มีตัวอย่างที่โรงพยาบาลราชวิถี ที่เพิ่มเตียง ICU ขึ้นมาได้ คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในการเตรียมการเร็วๆ นี้" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
อย่างไรก็ตามสำหรับข้อเสนอของแพทย์ในการล็อกดาวน์ กทม.อย่างน้อย 7 วัน เพื่อลดการเคลื่อนย้าย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอและได้นำมาพูดคุยกันในที่ประชุม ซึ่งเรารู้ว่าการล็อกดาวน์ได้ผลได้ดี ในปัจจุบันเราได้ทำอยู่ แต่เป็นการทำเฉพาะจุดเฉพาะพื้นที่ไป อย่างไรก็ตามแต่ละมาตรการมีผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่จะต้องมาไตร่ตรอง การปิดโรงงาน ทำให้แรงงานที่ไม่ได้ทำงาน ต้องเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัด อาจเป็นการเพิ่มปัญหาที่อื่นอีก ซึ่งจะมีการพิจารณาให้ดี
"คนกทม.ไม่ได้มีมาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากต่างจังหวัด ซึ่งอาจเกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงาน และนำกลับไปติดที่ต่างจังหวัด ซึ่งตอนนี้มีข้อสรุปที่จะทำ Bubble & Seal เหมือนตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมุทรสาคร แต่การแบ่งเขตในการดำเนินการของ กทม. อาจจะยากกว่า เนื่องจากพื้นที่มีความซับซ้อนกว่า บวกกับต้องผสานการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจให้ไปได้" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
@ ทั่วโลกป่วย 369,588 ราย สะสม 179.92 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 369,588 ราย รวม 179,924,986 ราย อาการหนัก 81,952 ราย หายป่วย 164,680,800 ราย เสียชีวิต 3,897,835 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 11,005 ราย รวม 34,434,803 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 352 ราย รวม 617,875 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 54,393 ราย รวม 30,027,850 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,129 ราย รวม 390,691 ราย บราซิล พบเพิ่ม 86,833 ราย รวม 18,056,639 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,080 ราย รวม 504,897 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 76 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage