ป่วยโควิด 3,175 ราย เป็นคลัสเตอร์เรือนจำ 140 ราย รวมสะสม 221,306 ราย เสียชีวิต 29 ราย ติดอันดับ 77 ของโลก ขณะที่ยังพบคลัสเตอร์ใหม่อย่างต่อเนื่องกระจาย 6 จังหวัด เจอในสมุทรปราการมากสุดถึง 3 คลัสเตอร์ ส่วนคลัสเตอร์เปาะยานิ ติดเชื้อรวม 402 ราย
----------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2564 เวลา 12.30 น. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 3,175 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,990 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 2,089 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 901 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 140 ราย และอีก 45 ราย เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 221,306 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,030 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 33,859 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,436 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 395 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 29 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,658 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 29 ราย มาจาก กทม. 17 ราย สมุทรปราการ 6 ราย ปทุมธานี 2 ราย สระบุรี นครราชสีมา นราธิวาส และสงขลา จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 16 ราย มีอายุระหว่าง 30-100 ปี มีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 70 ปี
โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว แบ่งเป็น ความดันโลหิตสูง 20 ราย เบาหวาน 15 ราย ไขมันในเลือดสูง 12 ราย โรคไต 6 ราย โรคปอด 3 ราย หลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ มะเร็ง 1 ราย และไม่มีโรคประจำตัว 2 ราย
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มาจากคนในครอบครัว 14 ราย รองลงมาคือ ติดเชื้อมาจากคนอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ศูนย์ผู้สูงอายุ และเพื่อนร่วมงาน 6 ราย อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด 1 ราย และระบุได้ไม่ชัดเจน 3 ราย
โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 624 ราย สมุทรปราการ 544 ราย นครปฐม 359 ราย ชลบุรี 187 ราย สมุทรสาคร 179 ราย ปทุมธานี 165 ราย นนทบุรี 117 ราย ปัตตานี 84 ราย ยะลา 74 ราย และสงขลา 61 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากจากต่างประเทศ ทั้งหมด 45 ราย แบ่งเป็น อินเดีย 1 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย ปากีสถาน 1 ราย นอร์เวย์ 1 ราย โปแลนด์ 1 ราย กัมพูชา 39 ราย และเมียนมา 1 ราย ซึ่งมีชาวกัมพูชาและเมียนมารวม 8 ราย ลักลอบข้ามแดนไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิ.ย.2564 พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 39,947 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 51,932 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 7,679,057 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 5,526,039 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 2,153,018 ราย
@ พบ 8 คลัสเตอร์ใหม่ กระจาย 6 จังหวัด
สำหรับสถานการการระบาดในจังหวัดอื่นๆ พบคลัสเตอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่ ประกอบด้วย สมุทรปราการ พบ 3 คลัสเตอร์ใหม่ แบ่งเป้นคลัสเตอร์คอนโดมิเนียม ต.บางเมือง อ.เมืองสมุทรปราการ ติดเชื้อแล้ว 11 ราย คลัสเตอร์เขตอุตสาหกรรมบางปู อ.เมืองสมุทรปราการ ติดเชื้อแล้ว 38 ราย และคลัสเตอร์บริษัทระบบน้ำเกษตร อ.พระสมุทรเจดีย์ ติดเชื้อแล้ว 20 ราย
ขณะที่สมุทรสาครพบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานสิ่งทอ อ.เมืองสมุทรสาคร ติดเชื้อแล้ว 6 ราย นนทบุรีพบคลัสเตอร์ใหม่บริษัทก่อสร้าง อ.ปากเกร็ด ติดเชื้อแล้ว 40 ราย สระบุรีพบคลัสเตอร์ในโรงเรียนตำรวจ อ.เมืองสระบุรี ติดเชื้อแล้ว 16 ราย ระยองพบคลัสเตอร์ใหม่ในฟาร์มเห็ด อ.แกลง ติดเชื้อแล้ว 11 ราย และฉะเชิงเทราพบคลัสเตอร์ใหม่ในบริษัทเชื่อมโลหะ อ.แปลงยาว ติดเชื้อแล้ว 8 ราย
@ คลัสเตอร์เปาะยานิ จ.ยะลา ติดโควิดรวม 402 ราย
ส่วนการระบาดของคลัสเตอร์เปาะยานิ ในจังหวัดยะลา พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลารายงานว่าขณะนี้พบการติดเชื้อรวม 402 ราย กระจายไป 11 จังหวัด ประกอบด้วย นราธิวาส 111 ราย สตูล 46 ราย ปัตตานี 46 ราย สงขลา 36 ราย กระบี่ 18 ราย พัทลุง 13 ราย นครศรีธรรมราช 10 ราย สุราษฎร์ธานี 9 ราย พังงา 5 ราย ตรัง 3 ราย และภูเก็ต 3 ราย ซึ่งหากรวมยะลาไปด้วยจะครบ 12 จังหวัด
จากการสอบสวนโรค คาดการณ์ว่ามีการระบาดเกิดขึ้นตั้งแต่ 29 พ.ค.2564 แต่ยังไม่มีการรายงานเป็นคลัสเตอร์ รายงานจากกรมควบคุมโรคพบว่าชุมชนมีประชากร 3-4 พันราย ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน 500 ราย จาก 17 จังหวัด นักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวมีการทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย รวมถึงมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งเมื่อนักเรียนเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยไม่ผ่านการคัดกรองหาเชื้อ จึงเกิดการนำเชื้อไปแพร่ระบาดในพื้นที่ของตน
อย่างไรก็ตามจังหวัดยะลาได้ออกมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยง หมู่ 3 บ้านเปาะยานิ ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลาเรียบร้อยแล้ว และจะมีการค้นหาเชิงรุก รวมถึงการออกประกาศประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ร่วมกิจกรรมในมัรกัสและผู้ที่สัมผัสในชุมชนรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ หรือฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับการรวจหาเชื้อและรับคำแนะนำในการเฝ้าระวัง นอกจากนั้นยังประสานไปยังทุกจังหวัด เพื่อให้มีการเฝ้าระวังสอบสวนโรค
“ที่ประชุมศบค. หารือกรณีที่โรงเรียนปิดตัวลง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในยะลา แต่ยังพบในพิษณุโลก และมหาสารคาม ต้องมีการทบทวนมาตรการ เรื่องการพิจารณาปิดโรงเรียนต้องหารือร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนที่จะมีการประกาศปิด และเมื่อปิดแล้วต้องมีมาตรการ มีระบบดูแล ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง จังหวัดปลายทาง เช่น กรมควบคุมโรค เสนอว่าปิดโรงเรียนแล้วต้องเดินทางกลับบ้าน ให้กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำ ให้กักตัวที่บ้าน ไม่ให้พบกับผู้อื่นหรือเข้าตลาดชุมชน เพราะจะกลายเป็นความเสี่ยง ทั้งนี้ขณะนี้ได้แจ้งไปยังจังหวัดต้นทางและปลายทางแล้ว เบื้องต้นทุกองค์กรให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” พญ.อภิสมัย กล่าวว่า
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ยังมีความเป็นห่วงอีกอย่างคือ ในเดือน ก.ค. จะมีเทศกาลวันตรุษอีดิลฟิฏร์ ซึ่งจะมีการร่วมกัน จัดเลี้ยง เดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งจุฬาราชมนตรี ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนติดตามประกาศของจังหวัดอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขอให้ทุกคนเข้าใจและไม่เกิดอคติกับผู้ติดเชื้อด้วย
@ ทั่วโลกป่วย 295,229 ราย สะสม 179.25 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 295,229 ราย รวม 179,252,416 ราย อาการหนัก 82,622 ราย หายป่วย 163,805,325 ราย เสียชีวิต 3,882,008 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 4,422 ราย รวม 34,406,001 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 86 ราย รวม 617,166 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 53,009 ราย รวม 29,934,361 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,113 ราย รวม 388,164 ราย บราซิล พบเพิ่ม 44,178 ราย รวม 17,927,928 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,050 ราย รวม 501,918 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 77 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage