‘ศบศ.’ เห็นชอบ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ กำหนด 6 แนวทาง เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาเที่ยว ‘ภูเก็ต’ โดยไม่ต้องกักตัว เริ่ม 1 ก.ค.นี้
....................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) โดยเปิดดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค.2564
สำหรับแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว มีดังนี้ 1.เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปีและเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
2.กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต 3.มีเอกสารรับรองการฉีดจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) 4.มีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน
5.พานักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ ในเวลา 14 คืน และภายหลังการพำนักตามระยะเวลาที่ก าหนดสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้ และ6.รายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และสามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน DMHTTA
ส่วนการเตรียมพื้นที่รองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวภายใต้แผนการพัฒนาเมืองภูเก็ต (Better Phuket Initiatives) ได้แก่ 1.การปรับปรุงภูมิทัศน์ 2.โครงการสร้างคุณค่าและประสบการณ์โดยการท่องเที่ยววิธีชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ 3.การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการท่องเที่ยว และ 4.การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำเสนอรายละเอียดของแผนการดำเนินงานต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
พร้อมกันนั้น ศบศ. ได้เห็นชอบข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูงภายใต้โปรแกรม (Flexible Plus Program)
2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดที่ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆหลายประการ ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดท ารายละเอียดของแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ และนำเสนอ ศบศ. พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ศบศ. ยังรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งพิจารจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.2564 เทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่ามูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตการเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัว ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ในเดือน เม.ย. สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ข้อมูลความถี่สูงในเดือนพ.ค.2564 ชี้ให้เห็นถึงการลดลงของการเดินทางภายในประเทศเพื่อออกไปทำกิจกรรมต่างๆ มาอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับการระบาดระลอกแรกในเดือนมี.ค.2563 แต่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของการเดินทางภายในประเทศนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค.2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากการไม่พบผู้ติดเชื้อในในพื้นที่หลายจังหวัดส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในจังหวัดดังกล่าวมากขึ้น
ส่วนความคืบหน้ามาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญนั้น ในส่วนโครงการเราชนะ ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิ.ย.2564 มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งสิ้น 33.1 ล้านคน มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วรวมทั้งสิ้น 257,997 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน มูลค่าการใช้จ่าย 97,367 ล้านบาท 2.กลุ่มผู้ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง 17 ล้านคน มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสม 141,254 ล้านบาท
และ3.กลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อาทิ ผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ 2.4 ล้านคน มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสม 19,376 ล้านบาท
ขณะที่มาตรการ ม 33 เรารักกัน มีผู้ได้รับสิทธิ์โครงการรวมทั้งสิ้น 8,138,627 คน คิดเป็นวงเงิน 48,831.8 ล้านบาท โดยล่าสุดมีผู้ประกันตนใช้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 8,040,416 ราย มูลค่ารวมยอดการใช้จ่ายทั้งหมด 39,317.2 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจและมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้นั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 โครงการสินเชื่อฟื้นฟูมีสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 20,839.3 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือ 8,218 ราย คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ย 2.54 ล้านบาทต่อราย และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีผู้ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 4 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 909.68 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
นายกฯถก 'ศบศ.' พรุ่งนี้ เตรียมความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ-กระตุ้น ศก.
กางแผนวัคซีนโควิด คลุมคนไทย-ต่างชาติทั่วประเทศ ลุ้นไฟเซอร์-จอห์นสันเข้าไตรมาส 3
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage