"...ขณะนี้รวมที่เรามีวัคซีนแล้ว คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคอีก 6 ล้านโดสที่ส่งมอบแล้ว และที่จัดหาจากผู้ผลิตอื่น คือ วัคซีนซิโนแวค 15 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อีก 5 ล้านโดส ดังนั้นปี 2564 ก็จะมีวัคซีนราวๆ 100 ล้านโดส..."
………………………………………………………………..
จากข้อมูลของเว็บไซต์ worldmeters ณ วันที่ 1 มิ.ย.2564 เปิดเผยว่า โควิดคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วกว่า 3,578,198 ราย ดังนั้นเพื่อยับยั้งการเสียชีวิต ‘วัคซีน’ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันและลดความรุนแรงของโควิด
องค์การอนามัยโลก ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จึงได้จัดบรรยาย เรื่อง 'ข้อมูลโควิดและการกระจายวัคซีนในประเทศไทย' เพื่อเป็นข้อมูลอัปเดตให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
โดย ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทผู้ลิตวัคซีนทั่วประเทศที่คิดค้นวัคซีนด้วยกันถึงกว่า 100 ยี่ห้อที่อยู่ในขั้นการทดลองในมนุษย์ และอีก 184 ยี่ห้อ อยู่ในขั้นตอนก่อนการทดลอง หรือ ขั้นการทดสอบในห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลอง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้อนุมัติ 6 วัคซีน ให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ประกอบด้วย วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca) วัคซีนโควิชิลด์ (Covishield) วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) วัคซีนจอห์นสันแอดน์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinophram) และวัคซีนซิโนแวค (Sinovac)
ปัจจุบันมี 211 ประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 1,870 ล้านโดส และในโครงการโคแว็กซ์ (Covax) ส่งไปแล้ว 127 ประเทศ 77.7 ล้านโดส ดังนั้นประเทศส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว โดย 77 ประเทศจะพบว่าใช้วัคซีนของประเทศจีน 33% และประชากรที่ได้รับการฉีดกลุ่มแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า โดยวัคซีนที่มีการใช้แพร่หลาย คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา และเป็นวัคซีนที่กำลังมีการใช้ในประเทศไทย เมื่อเรียงตามลำดับจะพบว่า แอสตร้ามากที่สุด ตามมาด้วย วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนกามาลาย่าของรัสเซีย เป็นต้น
“ส่วนในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีน ต้องดูจากหลายปัจจัย เพราะหลายประเทศใช้ตัวแปรในการศึกษาวิจัยแตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญต้องดูเรื่องการป้องกันโรครุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต” ดร.ซุมยา กล่าว
@ การฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 อยู่ระหว่างการศึกษา
ดร.ซุมยา กล่าวถึงวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มว่า ทั้งคู่เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย ซึ่งสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ และต้องฉีด 2 โดส สามารถฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป อีกทั้ง ยังสามารถใช้ได้ในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ แต่ในคนที่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่มีอาการแพ้รุนแรงในโดสแรก ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันในโดสสอง
ส่วนการฉีดครบ 2 โดส แล้วจะมีประสิทธิผลยาวนานแค่ไหนนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล แต่ที่ผ่านมามีข้อมูลแค่ช่วง 6 เดือนเท่านั้น และการทดลองในคนยังไม่มากมาย จึงต้องรอ และหากจะให้เห็นผลกว่านี้ต้องใช้เวลาเป็นปี
“ทั้งนี้การฉีดเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นอีก ต้องทำหรือไม่นั้น จะต้องศึกษาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้จึงกำหนดว่า ต้องฉีด 2 โดสเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม ส่วนคนที่ติดโควิดแล้ว ยังต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดสเช่นกัน แต่หากวัคซีนมีไม่เพียงพอในประเทศนั้นๆ คนกลุ่มนี้รอได้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่ายังมีภูมิคุ้มกันหลงเหลืออยู่จากการป่วย” ดร.ซุมยา กล่าว
(นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์)
@ WHO ย้ำอย่าการ์ดตก หลังปูพรมฉีดวัคซีนทั่วไทย 7 มิ.ย.64
ด้าน นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิดภายในประเทศไทยว่า สามารถทำได้ดี แต่บทเรียนสำคัญจากโควิดนี้สะท้อนให้เห็นว่าวัคซีนมีความสำคัญ วัคซีนทุกชนิดสามารถช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือซิโนแวค ต่างสามารถทำได้ดี ขอยืนยันให้ประชาชนชาวไทยเชื่อมั่น
“ทั้งนี้ วัคซีนไม่ได้ใช้ป้องกันชีวิตอย่างเดียว การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากสื่อมวลชน เป็นการป้องกันชีวิตได้ด้วย” นพ.แดเนียล กล่าว
การทำงานร่วมกับสื่อถือว่าสำคัญมาก เพราะสื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยควบคุมโรค และยังเป็นตัวส่งเสริมการรับวัคซีนของประชาชน ดังนั้นสื่อสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า เกิดอะไรขึ้นช่วยให้ประชาชนประเมินตัวเองได้ว่า อยู่กลุ่มไหน ควรทำอะไร และอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 มิ.ย.2564 ประเทศไทยจะเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ ที่องค์การอนามัยโลกรู้สึกตื่นเต้นและยินดีเป็นอย่างมาก แต่ขอย้ำให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้ว อย่าเพิ่งการ์ดตก ยังต้องส่วมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ คุมเข้มมาตรการเช่นเดิม ระหว่างรอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)
(นพ.นคร เปรมศรี)
@ แผนกระจายวัคซีน 100 ล้านโดส
สำหรับการจัดหาวัคซีนชนิดอื่นๆ ของประเทศไทย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่หารือร่วมกับคณะกรรมการวิชาการ สธ. เพื่อจัดหาวัคซีนในเป้าหมายปี 2564 รวม 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำสัญญากับ บริษัท ซิโนแวค จำกัด เรียบร้อยแล้ว 10-15 ล้านโดส ตอนนี้ได้รับแล้ว 6 ล้านโดส ที่เหลือจะทยอยส่งอีกเดือนละ 3 ล้านโดส และได้รับบริจาคอีก 1 ล้านโดส
ขณะเดียวกันได้ทำสัญญากับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด เรียบร้อยแล้ว 61 ล้านโดส และจะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ซึ่งในวันนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนด์ จำกัด ได้ส่งมอบเรียบร้อยแล้ว 1.8 ล้านโดส และจะกระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ ตามแผน
ส่วน บริษัท ไฟเซอร์ จำกัด และ บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำกัด อยู่ระหว่างการต่อรองเงื่อนไขสัญญา โดยไฟเซอร์คาดว่าจัดหาให้ได้ 20 ล้านโดส ภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน คาดว่าจัดหาให้ได้ 5 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะได้รับในไตรมาส 3 หรือ 4 ของปี 2564
"ขณะนี้รวมที่เรามีวัคซีนแล้ว คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคอีก 6 ล้านโดสที่ส่งมอบแล้ว และที่จัดหาจากผู้ผลิตอื่น คือ วัคซีนซิโนแวค 15 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อีก 5 ล้านโดส ดังนั้นปี 2564 ก็จะมีวัคซีนราวๆ 100 ล้านโดส" นพ.นคร กล่าว
ส่วนวัคซีนส่วนเสริมอื่นๆ นั้น อย่าง บริษัท โมเดอร์นา จำกัด ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน อย่างไรก็ตามอาจมีวัคซีนยี่ห้ออื่น ที่จะให้ประชาชนไทยได้ใช้อีกภายในสิ้นปี
@ แจงปมฟิลิปปินส์ได้วัคซีนแอสตร้าฯล่าช้า ไทยไม่เกี่ยว
กรณีมีข่าวว่า ประเทศฟิลิปปินส์จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ล่าช้าและน้อยกว่ากำหนด จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่นั้น นพ.นคร กล่าวว่า คาดว่าจะเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์ สั่งซื้อวัคซีนจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ไม่ใช่การสั่งซื้อผ่าน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเขาจะต้องจัดสรรวัคซีนตามไซต์การผลิตต่างๆ ดังนั้น การส่งล่าช้า จะเกี่ยวข้องกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด กับรัฐบาลประเทศนั้นๆ
ส่วนประเทศไทย อยู่ระหว่างการส่งมอบวัคซีนเป็นรายสัปดาห์ ทั้งนี้ข้อตกลงระหว่างกรมควบคุมโรค กับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ไม่ได้ห้ามการส่งออกวัคซีน แต่จะต้องมีการหารือกัน บนพื้นฐานการจัดสรรขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่ต้องเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน
“ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ต่างไม่มีวัคซีนในคลังจำนวนเยอะ แล้วส่งทีเดียว แต่จะเป็นการผลิตไปส่งไป ดังนั้นการมีวัคซีน จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และจังหวะเวลา ทุกขั้นตอนมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพครบถ้วนและยาวกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ ข่าวต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง แต่ บริษัท แอสตร้าฯ ต้องเป็นผู้จัดการ ส่วนประเทศไทยจะเป็นคนรวบรวมจำนวน แล้วคุยกับบริษัท แอสตร้าฯ ว่าจะส่งมอบให้เราแต่ละช่วง อย่างไรตามการผลิตของเขา เข้าใจว่าหลายคนรู้สึกคับข้องใจ แต่อยากให้เข้าใจสถานการณ์ที่ผู้ผลิตไม่มีวัคซีนจำนวนมากรอส่ง อย่างน้อยการที่เรามีฐานการผลิตในประเทศ ก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราจะยังมีวัคซีนในประเทศ” นพ.นคร กล่าว
(นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร)
@ กลางเดือน มิ.ย.2564 ไทยจะได้รับวัคซีน 2 ล้านโดส
ในวันที่ 7 มิ.ย.2564 จะมีการปูพรมฉีดวัคซีนโควิดให้กับคนไทยทั้งประเทศ โดยจะเริ่มฉีดให้กับประชากรกลุ่มที่ 2 ของประเทศ คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค เรื้อรัง ที่จองคิวเข้ามาในระบบหมอพร้อมและแพลตฟอร์มอื่นๆ
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวยืนยันว่า จำนวนวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชนนั้นมีเพียงพอ โดยในเดือน มิ.ย.2564 จำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจะได้รับจากบริษัทผู้ผลิต จะแบ่งออกเป็นงวดๆ โดยงวดแรกจะกระจายวัคซีน 240,000 โดส ในวันที่ 2-3 มิ.ย.2564 และจะทยอยเข้ามาอีก 1 ล้านโดส ในวันที่ 5 - 6 มิ.ย.2564 ขณะเดียวกันจะได้รับซิโนแวคอีก 7 แสนโดส ทำให้ในกลางเดือน มิ.ย.2564 ไทยจะมีวัคซีนรวม 2 ล้านโดส
จากนั้นในกลางเดือน มิ.ย.2564 จะมีวัคซีนทยอยเข้ามาอีก ทำให้ตลอดเดือน มิ.ย.2564 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนจัดสรรเพิ่ม 5 - 6 ล้านโดส
@ เปิดจองคิวฉีดวัคซีนคนต่างชาติ ในกลุ่มผู้สูงวัย-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ส่วนแผนการกระจายวัคซีนในคนต่างชาติในประเทศไทย นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า นโยบายของรัฐบาลไทย คือ ให้คนไทย คนต่างชาติในประเทศเข้าถึงวัคซีนได้ทุกคน ซึ่งได้วางแผนการฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ ด้วยดำเนินการในกลุ่มคณะทูต และครอบครัว เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ (UN) ที่ให้ลงทะเบียนล่วงหน้า และฉีดในโรงพยาบาลที่กำหนด เบื้องต้นมี 3 แห่ง และจะเพิ่มเติมมากขึ้นในสัปดาห์หน้า
“สำหรับชาวต่างชาติทั่วไป จะเริ่มลงทะเบียนจองคิวฉีดได้เช่นเดียวกับคนไทย โดยจะเริ่มใน 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถลงทะเบียนล่วงหน้า ได้ในเว็บไซต์ www.thailandIntervac.com” นพ.โสภณ กล่าว
(นพ.จเด็จ ธรรมทัชอารี)
@ สปสช. เยียวยาอาการแพ้วัคซีนให้ ‘กลุ่มมีประกันเอกชน’ด้วย
นอกจากแผนการกระจายวัคซีนแล้ว ประเทศไทยยังได้เตรียมความพร้อมในการดูแลอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน โดย นพ.จเด็จ ธรรมทัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. สนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด ทั้งในและนอกโรงพยาบาล และเตรียมงบประมาณสำหรับค่าเสียหายเบื้องต้น จากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด โดยผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องมาที่ สปสช. ได้เลย โดยไม่ต้องรอการตรวจสอบ ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 5 วัน
“ทั้งนี้ หากสงสัยว่ามีอาการเกี่ยวข้องกับวัคซีนสามารถยื่นเรื่องได้ หรือปรึกษากับแพทย์ หากเกี่ยวกับวัคซีน แพทย์จะช่วยดำเนินการยื่นเรื่องเยียวยา” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หลังจากเปิดให้ยื่นเรื่องมา 2 สัปดาห์ สปสช.รับเรื่องแล้ว 250 ราย ชดเชยแล้วในวันนี้ 150 ราย ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ มักพบในผู้ป่วยติดเตียง และมีลักษณะอาการชา คลื่นไส้ อ่อนเพลีย
อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าชดเชยนั้น สปสช. ไม่ได้ผูกกับประกันของบริษัทเอกชน ดังนั้น สำหรับคนไทย เราไม่ได้คำนึงว่า ผู้ที่มีประกันจากเอกชนแล้วเราจะละเลย ทุกคนสามารถยื่นเรื่องได้เหมือนกันหมด
ทั้งหมดนี้เป็นแผนการกระจายวัคซีนของไทยในปี 2564 ซึ่งจะเริ่มปูพรมกระจายวัคซีนจำนวนมากในวันที่ 7 มิ.ย.2564 และรัฐได้ยืนยันแล้วว่าวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชนมีเพียงพอ อย่างไรก็ตามแม้จะมีวัคซีน ขอทุกคนคุมเข้มมาตรการต่อไป จนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage