กสม.ออกรายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 63 ประเมินช่วงโควิด-19 ด้วย ชมเปาะ รบ.แก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพ จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ถึงจำกัดเสรีภาพบางประการ แต่เป็นมาตรการจำเป็น สอดคล้องกติกาสากล แม้ผลกระทบเศรษฐกิจทำเอาผู้ประกอบการธุรกิจไปไม่รอด-ส่งผลเลิกจ้าง ประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอยังชีพ
.........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เผยแพร่รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ประจำปี 2563 โดยมีการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตอนหนึ่ง ระบุว่า ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และมาตรการเยียวยาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐต้องออกมาตรการที่เข้มงวดหลายประการ แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการตามความเหมาะสมต่อสถานการณ์ รวมถึงการบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ และการออกมาตรการภาครัฐซึ่งช่วยพยุงกำลังซื้อครัวเรือน แต่ในภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงหดตัวสูง และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
รายงานผลดังกล่าว ระบุอีกว่า การที่ไทยได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกจนถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นอกจากจะส่งผลต่อผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ที่ไม่สามารถพยุงธุรกิจต่อไปได้ การหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการต่าง ๆ ทำให้เกิดการเลิกจ้าง ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของประชาชนทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการลดค่าครองชีพรวมถึงการออกมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการว่างงานยังเป็นปัญหาในระยะยาวที่รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
ในภาพรวม กสม. เห็นว่า รัฐบาลได้ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิผล สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้โดยสอดคล้องกับความสามารถในการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศ จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เป็นการดำเนินการเชิงบวกตามพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในมิติของสิทธิด้านสุขภาพทั้งในส่วนของคนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย มีการสื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคและมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ ทำให้ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากประชาชนซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดี และมีความพยายามดูแลกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้าถึงข้อมูลและอุปกรณ์ในการป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ และการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคและเสียชีวิตผ่านระบบอาสาสมัครสาธารณสุข รวมถึงรัฐได้มีความพยายามในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากต่างประเทศเพื่อลดความรุนแรงและอันตรายต่อชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“กสม. จึงเห็นว่ามาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นมาตรการที่จำเป็นและได้สัดส่วนกับความรุนแรงของสถานการณ์ นอกจากนี้ ในการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การดำเนินการของรัฐบาลในการใช้มาตรการจำกัดสิทธิในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงสอดคล้องกับหลักการในกติกา ICCPR” รายงานผลของ กสม.ตอนหนึ่ง ระบุ
อย่างไรก็ดี กสม. พบปัญหาหรืออุปสรรค ในทางปฏิบัติ มาตรการควบคุมการระบาดของโรคบางประการส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนบางกลุ่ม อาทิ ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังพบความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้หญิง โดยมีรายงานว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น โดยสถิติผู้เข้ารับบริการในศูนย์พึ่งได้ (กระทรวงสาธารณสุข) พบว่า ในช่วงระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563 มีจำนวนผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงที่รับบริการที่ศูนย์พึ่งได้เพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีจำนวน 13,248 คน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีจำนวน 14,523 คน และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีจำนวน 15,090 คน
นอกจากนี้มีรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า มีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 66 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ รายได้ของครอบครัว และการใช้สารเสพติด สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่สะท้อนปัญหาของการถูกกระทำความรุนแรงของเพศหญิงในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวว่า เกิดจากการว่างงานจนทำให้เกิดความเครียดและมีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นในการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง และยังมีปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยเฉพาะเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage