กะเหรี่ยงบางกลอยเผยเจ้าหน้าที่รุนแรง กระชากขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ด้านนักวิชาการวอนไม่ควรพิพากษาตัดสินความผิด ขณะที่อยู่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิของชุมชนและชาวบ้าน
.................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ 'ปัญหาการตีความกฎหมาย กรณีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน' เพื่อทำความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ร่วมถึงการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิของชาวบ้านบางกลอย โดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงกรณีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับชาวบ้านบางกลอยส่วนใหญ่ ว่า มีการกล่าวอ้างว่าชาวบ้านบางกลอยไม่ใช่คนไทย เป็นคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปี 2524 เคยเกิดเหตุการณ์ความเข้าใจผิดดังกล่าว จนชาวบ้านบางกลอย นำโดย ปู่คออี้ มีมิ ได้ออกมาแสดงตัวตนว่าพวกเขาเป็นคนไทย พร้อมแสดงหลักฐานบัตรประจำตัว เอกสารยืนยันสัญชาติ และเหรียญชาวเขาเพื่อยืนยัน
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า จากคดีเผาบ้านชาวบ้านจากปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า บางกลอย-ใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และเป็นสิทธิที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งชาวบ้านบางกลอยไม่เคยทิ้งที่อยู่บริเวณใจแผ่นดิน เนื่องจากปี 2539 มีการบังคับอพยพชาวบ้านลงมาที่บ้านบางกลอยล่าง แต่เมื่อไม่สามารถอยู่ได้ จึงเดินทางกลับไปพื้นที่เดิม
นายประเสริฐ พุกาด ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมกล่าวถึงสาเหตุการกลับไปที่ใจแผ่นดิน ว่า จากการที่รัฐอ้างว่าจัดสรรพื้นที่ให้หลังจากที่บังคับอพยพนั้น สิ่งที่ชาวบ้านประสบคือไม่มีพื้นที่ปลูกข้าว ไม่มีข้าวสาร ไม่มีอะไรกิน จึงตัดสินใจกลับขึ้นไป
นายประเสริฐ กล่าวถึงเหตุการณ์การจับกุมชาวบ้านที่ผ่านมาล่าสุด ว่า เป็นสถานการณ์ที่มีความชุลมุนมาก มีการกระชากดึงผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมลงจากใจแผ่นดิน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อควบคุมตัวลงไป แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรเด็กๆ พร้อมเผยว่าเจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ส่วนชาวบ้านถูกยึดโทรศัพท์ตั้งแต่อยู่ด้านบน และเมื่อนำตัวลงมามีการตรวจร่างกาย เจาะเลือด ถอนเส้นผม เก็บเนื้อเยื้อที่กระพุ้งแก้ม และหลังจากการสอบสวนได้ถูกควบคุมตัวส่งไปยังเรือนจำกลางเพชรบุรี แยกชายและหญิง โดยที่เรือนจำ ชาวบ้านทุกคนจะต้องตัดผม แต่กลุ่มชาวบ้านได้ขอร้องเจ้าหน้าที่ให้ยกเว้นการตัดผมนายหน่อแอะ มีมิ และหลานชาย เนื่องจากความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์
นอกจากนี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสรุปถึงประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เจ้าหน้าที่รัฐชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านบางกลอย กรณีที่ไปเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สิน เนื่องจากทำเกินกว่าเหตุ ส่วนการขอกลับสู่ถิ่นฐานเดิมนั้น ศาลระบุว่า เนื่องจากชาวบ้านไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน หรือหนังสือการได้รับอนุญาตจากทางการ แต่ศาลไม่ได้ระบุว่ากลับได้หรือไม่ ทั้งนี้การออกเอกสารรับรองนั้น เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล ฉะนั้นรัฐจะอ้างว่าศาลไม่ให้กลับไม่ได้ เนื่องจากศาลยังไม่ได้ชี้ขาด เพียงแต่ขาดเอกสารรับรองเท่านั้น
นายปริญญา กล่าวอีกว่า หากมีการฟ้องในประเด็นนี้ ศาลจะมีการนำสืบพยานหลักฐานในอีกลักษณะหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่จบ หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ย่อมทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องแล้ว และสถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 คณะกรรมาธิการที่ดินฯได้เตรียมขอข้อมูลจากกรมแผนที่ทหารและภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องยอมรับในข้อเท็จจริงนี้
ด้าน นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการละเมิดสิทธิชุมชน และศักดิ์ศรีความเป็มนุษย์ โดยการปฏิบัติหน้าที่โยงกันในหลายมิติ แต่กลับไม่สนใจหลักสิทธิชุมชน อีกทั้งยังขยายโยงไปถึงเรื่องความมั่นคงกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวโยงกัน แต่เป็นเสมือนการทำลายชุมชนมากกว่า
นายประภาส กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นคำวินิจฉัยของศาลจังหวัดเพชรบุรีอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามผู้ต้องหากลับไปในพื้นที่กระทำผิด และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับครั้งละ 50,000 บาทนั้น ข้อที่ควรนำมาพิจารณาคือ ชาวบ้านที่เคยถูกอพยพมา โดยไม่มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ต้องถูกดำเนินคดี เพราะพยายามกลับไปยังถิ่นฐานเดิมนั้น กระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการยังไม่ควรพิพากษาตัดสินความผิดที่ยังขาดกระบวนการพิสูจน์สิทธิของชุมชนและชาวบ้าน
ทั้งนี้ นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.ก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ปัญหาชาติพันธุ์มีมาอย่างยาวนาน โดยความล้มเหลวของรัฐคือ การให้สัญญารับปากกับชาวบ้านในการแก้ปัญหา แต่สุดท้ายก็หันหลังให้ ส่วนประเด็น มติ ครม.ที่มีขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นถึงการออกกฎหมายของรัฐที่ล้มเหลว ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย พร้อมเสนอแนะว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ ควรสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ ซึ่งจะส่งผลดี ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนเป็นเกราะให้พื้นที่มีความมั่นคงได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage