กองทัพไทย ตั้งโต๊ะเปิดแถลงข่าวคดีนายทหาร 'ยศร้อยโท' หลอกลวงวัคซีนแอฟริกาเป็นทางการ รับมีเหตุการณ์ดังกล่าวจริง แต่ไม่กระทบภารกิจยูเอ็น เผยดำเนินการสอบสวนวินัยร้ายแรงทันที ไม่ปกป้องผู้กระทำความผิด ขณะที่เจ้าตัวยอมรับกระทำผิดคนเดียวไม่มีผู้ร่วมขบวนการ
....................................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามนำเสนอข้อเท็จจริงกรณีนายทหารไทยรายหนึ่ง 'ยศร้อยโท' ที่ถูกส่งตัวไปปฎิบัติหน้าที่โรงพยาบาลสนามในเซาท์ซูดาน ช่วงเดือนธันวาคม 2562-ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่และจบภารกิจ และเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จาก office of internal oversight services และกองทัพบก ได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ฐานประพฤติชั่วร้ายแรงกับนายทหารรายนี้ ในคดีฉ้อโกงเงินกำลังพล ค่าดูแลการส่งกลับสายแพทย์ และหลอกลวงฉ้อโกงผู้บังคับบัญชา และกำลังพลให้ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในเขตทวีปแอฟริกานั้น
(อ่านประกอบ : อ้าง UN เรียกเก็บเงินหัวละ20เหรียญ! นายทหารไทย คดีวัคซีนแอฟริกาโดนถอด 'ยศร้อยโท' แล้ว, ฉาวระดับปท.! UN ร่วมสอบ 'นายทหารไทย' ฉ้อโกงเงิน-หลอกลวงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แอฟริกา, เผยภาพวินาทีฉีดที่ซูดาน! คนออนไลน์แจ้งเบาะแส นายทหาร 'ยศร้อยโท' คดีหลอกลวงวัคซีนแอฟริกา)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่กองบัญชาการการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ ได้มีการเปิดแถลงข่าวในหัวข้อ "การดำเนินคดี นายทหารที่ปฏิบัติภารกิจเซาท์ซูดานเมื่อปี 63 กระทำผิดวินัยร้ายแรง ยันไม่กระทบต่อภารกิจทหารไทยโดยรวม" มีผู้แถลงข่าว คือ พล.ท. เชาวลิตร สังฆฤทธิ์ โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย และ พล.ต.ณัฐพล แสงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการณ์เพื่อสันติภาพ
โดยการแถลงข่าวระบุว่า ตามที่ได้มีการนําเสนอข่าวเกี่ยวกับนายทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจที่เซาท์ซูดานถูกสอบสวน กรณีหลอกลวงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศแอฟริกานั้น กองบัญชาการกองทัพไทย ขอเรียนว่ามีเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวจริงเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นนายทหารสัญญาบัตรยศร้อยโทตําแหน่งนายแพทย์โรงพยาบาล สนามระดับ 1 กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน และได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมรายงานให้ผู้บังคับบัญชากองกําลังภารกิจสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเซาท์ซูดาน (UNMISS) และกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยต้นสังกัดทราบ พร้อมทั้งให้กําลังพลดังกล่าวจบภารกิจและส่งตัวกลับประเทศไทย เมื่อมีนาคม 2563 กรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกองทัพไทยและประเทศไทยในภารกิจร่วมสหประชาชาติ
ต่อกรณีดังกล่าวกองทัพไทยได้ดําเนินการอย่างทันท่วงที โดยไม่มีการปกป้องผู้กระทำผิดแต่อย่างใด โดยกองทัพบกในฐานะเป็นต้นสังกัดกําลังพลดังกล่าว ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และพิจารณาในประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรมควบคู่กันไป
สําหรับผลการสอบสวนสรุปว่า นายทหารท่านดังกล่าว ได้กระทําผิดจริง มีพฤติกรรมหลอกลวงผู้บังคับบัญชาและกําลังพลให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยแอบอ้างว่าเป็นคําสั่งของนายแพทย์ประจําภารกิจแต่กลับนําสารอื่นเข้าสู่ร่างกายกําลังพลแทน พร้อมทั้งได้เรียกเก็บเงินกําลังพลเป็นค่าวัคซีนด้วย แสดงถึงเจตนาทุจริตหลอกลวง พฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายฉ้อโกงและประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ในระหว่างการสอบสวน นายทหารคนดังกล่าวไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ และไม่สามารถติดต่อได้ หน่วยต้นสังกัดจึงได้ดําเนินการในฐานความผิดหนีราชการในเวลาประจําการ และเสนอปลดออกจากราชการ พร้อมกันนี้ศาลทหารกรุงเทพได้ออกหมายจับในข้อหาหนีราชการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนั้น ได้มีหนังสือถึงแพทยสภาให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเรียนว่าเป็นการกระทําผิดส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ผิด วินัยทหารและกฎหมาย รวมทั้งสร้างความเสื่อมเสียร้ายแรงต่อชื่อเสียงของกองทัพและประเทศชาติ กองทัพไทย ได้ดําเนินการตามกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยทันที เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ดําเนินการเรื่องจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนทั่วไป
สําหรับในส่วนของกําลังสหประชาชาติก็มีความเข้าใจในกระบวนการที่กองทัพไทยได้ดําเนินการต่อเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบต่อภารกิจโดยรวมของกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน ซึ่งกําลังพลทุกนายยังทุ่มเทปฏิบัติงานด้านการช่างและการรักษาสันติภาพที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาในช่วงท้ายการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้ถามย้ำว่า กรณีนี้มีผู้สมรู้ร่วมคิดรายอื่นหรือไม่ พล.ท.เชาวลิตร กล่าวว่า "ในกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการครั้งแรก นายทหารคนนี้ได้ยอมรับว่ามีการกระทำความผิดจริง และยืนยันว่ากระทำเพียงผู้เดียวไม่มีผู้ร่วมขบวนการ โดยประเด็นนี้ต้องขอชี้แจงถึงลักษณะของขวดบรรจุภัณฑ์วัคซีนก่อนว่ามันจะมีลักษณะเป็นน้ำยาขวดใสๆ สีขุ่นๆ ทางกำลังพลที่ไปปฏิบัติภารกิจก็ไม่ทราบว่านั่นคือตัวยาอะไร แต่ทางยูเอ็นเขาสงสัยเนื่องจากขวดนั้นไม่มีฉลากอยู่บนตัวขวด ก็เลยมีการเอาตัวยาไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นยาป้องกันบาดทะยัก บางขวดก็เป็นเกลือแร่ ไม่ใช่น้ำยาที่จะไปป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามที่นายทหารนายนี้ได้อ้าง"
เมื่อถามว่า แล้วยาตัวจริงไปไหน พล.ท.เชาวลิตร กล่าวว่า "จากผลการสอบสวนระบุว่านายทหารนายนี้ได้ไปซื้อยาจากผู้ส่งยาในประเทศอินเดีย และก็มาทำการฉีด"
เมื่อถามว่า หมายความว่าได้เงินมาแล้วเอาเงินไปซื้อในสิ่งที่ไม่ถูกต้องใช่หรือไม่ พล.ท.เชาวลิตรกล่าวว่า "ไม่แน่ใจว่านายทหารคนนี้มีความคิดอย่างไร แต่การสอบสวนปรากฎว่าที่ฉีดนั้นไม่ใช่ยาที่ใช้แก้ไข้หวัดใหญ่"
เมื่อถามต่อว่า คนที่เสียหายก็คือกำลังพลที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่ พล.ท.เชาวลิตรกล่าวว่า "ในการปฏิบัติภารกิจของยูเอ็นที่เซาท์ซูดานจะมีข้อตกลงร่วมกันหรือเอ็มโอยูอยู่ว่า ประเทศใดที่รับผิดชอบในพื้นที่ค่ายที่ตัวเองอยู่ ถือว่าการปฏิบัติในพื้นที่นั้นให้เสมือนกับการปฏิบัติในพื้นที่ของประเทศไทย การทำหน้าที่ของนายทหารผู้นี้นั้นมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการรักษาพยาบาลเฉพาะกองร้อยทหารช่าง ไม่ได้มีหน้าที่ไปฉีดวัคซีนให้กับกำลังพลของเซาท์ซูดาน ดังนั้น การกระทำความผิดของหมอคนดังกล่าวนั้นก็คือความผิดที่เสมือนกระทำในประเทศไทย ถ้าหากกำลังพลที่ถูกหลอกให้รับการฉีดวัคซีนจะดำเนินการฟ้องร้องหรือไม่นั้น ก็เป็นสิทธิของกำลังพลผู้นั้น"
พล.ท.เชาวลิตร กล่าวต่อว่า "การฉีดวัคซีนต่อกำลังพลหนึ่งนายนั้นมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายประมาณ 500 กว่าบาท ทำให้กำลังพลจำนวน 200 กว่านายที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นไม่ติดใจอะไร อันที่จริงแล้วจำนวนเงินที่เสียหายนั้นจะอยู่ที่ 170,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง แต่แม้ว่าเรื่องนี้จะมีความเสียหายทางการเงินน้อย แต่ที่เราต้องมาพูดคุยกันก็คือเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมของนายทหารผู้นี้มากกว่า
พล.ท.เชาวลิตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กองทัพบกได้มีการหารือกับแพทยสภา คาดว่าจะเรียกทหารนายนี้มาคุยกันเป็นครั้งที่ 2 ถ้าหากยังไม่มาให้ปากคำยืนยัน แพทยสภาก็จะถอนใบอนุญาตทันที
เมื่อถามถึงประเด็นที่บิดาของทหารนายนี้ได้ไปฟ้องร้องว่า ถูกกองกำลังทหารกลั่นแกล้ง พล.ท.เชาวลิตรกล่าวว่า จากการสอบสวนนั้นไม่พบข้อมูลว่ามีการกลั่นแกล้งแต่อย่างใด
โฆษกกองทัพไทยกล่างทิ้งท้ายว่า นายทหารผู้นี้ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่เสาร์ซูดานโดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนการคัดกรองตามปกติเนื่องจากเป็นการเดินทางไปอย่างเร่งรีบเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่แทนนายแพทย์ทหารคนก่อนที่เดินทางกลับมาด้วยเหตุผลทางด้านการศึกษา ดังนั้นจึงถือเป็นบทเรียนว่าการคัดเลือกกำลังพลไปปฎิบัติหน้าที่จะต้องผ่านขั้นตอนที่ถูกต้อง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage