วงเสวนา 'Save บางกลอย' ชี้ปัญหา 'กะเหรี่ยงบางกลอย' มีมานานแต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข แนะรัฐปรับตัว ทบทวนการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ควบคู่วิถีชีวิตคนพื้นถิ่น
.............................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี จัดเสวนาหัวข้อ ‘ทำไมต้อง Saveบางกลอย’ หลังจากประกาศปักหลักชุมนุมค้างคืนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ชาวปกาเกอะญอบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยนายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวปกากะเญอบ้านบางกลอย กล่าวถึงสาเหตุที่ชาวบางกลอยตัดสินใจเดินทางกลับหมู่บ้านใจแผ่นดิน ว่า อยากกลับไปใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมที่พึ่งพาธรรมชาติ เนื่องจากตั้งแต่อพยพย้ายมาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ต้องอยู่ในกรอบ พึ่งธรรมชาติไม่ได้ วัฒนธรรมกะเหรี่ยงก็อาจสูญไป อีกทั้งสถานการณ์โควิดที่ทำให้ลำบากมากยิ่งขึ้น
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องบ้านบางกลอยมีมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไม่ตรงจุด ที่ผ่านมาพยายามสื่อสารผ่านสื่อมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ชาวบางกลอยไม่ได้ต้องการท้าทายอำนาจรัฐ แต่มาเคลื่อนไหวเพื่อปากท้อง หากเจ็บป่วยก็อยากตายที่บ้าน ยืนยันว่าจะอยู่ที่หมู่บ้านใจแผ่นดิน ไม่ไปไหน อยากให้เข้าใจวิถีของชาวบางกลอยมากกว่านี้ ลำพังพวกชาวบ้านเองไม่สามารถทำอะไรได้มาก ที่ผ่านมาสูญเสียมาเยอะแล้ว ครั้งนี้อยากให้ประชาชนในเมืองช่วยส่งเสียง และเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
ด้าน นายณัฐวุฒิ อุปปะ ภาคีเซฟบางกลอย กล่าวว่า เมื่อนึกถึงใจแผ่นดิน เรานึกถึงการจัดการที่ดินที่ล้มเหลวของรัฐไทย ที่ไม่เพียงกระทบต่อชาวบ้านแต่ยังส่งผลถึงทุกคนในประเทศ ความบิดเบี้ยวในการจัดการที่ดิน โดยประวัติศาสตร์ที่ต้องยอมรับ คือ ชุมชนหลายแห่งมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 120 ปี ก่อนการสถาปนาของกรมป่าไม้ใน เมื่อ พ.ศ. 2439 ส่วนกรมป่าไม้ที่บอกว่ารักป่า เมื่อถามว่าตั้งขึ้นครั้งแรกเพราะอะไร คำตอบคือเพื่อการตัดไม้ อีกทั้งโลโก้ยังเป็นรูปท่อนซุง เพิ่งมาอนุรักษ์ป่าในภายหลัง
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า รัฐต้องปรับวิธีคิด ปรับทัศนคติ จากการนำโมเดลจากต่างประเทศมาใช้เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าการทำป่าให้ปลอดคน ไม่ดีเท่าการให้คนอยู่กับป่า ต้องออกจากมายาคติที่ถูกหลอก มาอยู่กับข้อเท็จจริง ช่วยกันเรียกร้องการจัดการป่าไม้ในสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่ใช้โมเดลเดียวในทุกพื้นที่ และยอมรับความหลากหลาย รวมทั้งออกแบบกฎหมายให้สอดคล้องอีกด้วย
นายสุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการด้านวนศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐไม่ยอมปรับตัว แต่พยายามเรียกร้องให้ชาวบ้านปรับตัว และตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดคล้องกับบริบทที่มีความซับซ้อน การจัดการทรัพยากรยังอยู่ใต้การรวมศูนย์ ขบวนการต่อสู้ต้องเปิดเพดานให้สูงขึ้น
อ่านประกอบ :
เสวนาแก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพกลับ'ใจแผ่นดิน'วอนรัฐอย่าใช้กำลัง-ขอเจรจาหาทางออก
ถอดบทเรียน'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์
ขอ'วราวุธ'ถอยคนละก้าว! 'ธรรมนัส'อาสากาวใจม็อบกะเหรี่ยงบางกลอย-นัดถก 19 ก.พ.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage