'อนุทิน'แจงแผนจัดหาวัคซีนโควิด เตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีนจากจีนแล้ว ลุ้นไทยตั้งโรงงานวัคซีนแห่งที่ 2 หลังองค์การเภสัชฯ เตรียมทดสอบฉีดวัคซีนในมนุษย์ระยะแรก มี.ค.นี้
.....................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่องการเดินหน้าศึกษาวิจัยทางคลินิกวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในมนุษย์ระยะที่ 1 ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการผลิตวัคซีนในประเทศแน่นอน สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้แทงม้าตัวเดียวอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับทีมผู้ผลิตชุดนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และการสนับสนุนจากนานาชาติ เป็นการปรับใช้เทคโนโลยีนำเชื้อไปเพาะในไข่ไก่ฟักในการผลิตวัคซีน ซึ่งเป็นโทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้ในการผลิตวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่วนการวิจัยวัคซีนโควิดได้พัฒนามาตั้งแต่กลางปี 2563
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า จากผลการวิจัยพบว่า วัคซีนที่พัฒนาสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี คาดว่าภายในเดือน มี.ค.จะศึกษาวิจัยในมนุษย์ ระยะที่ 1 และเมื่อมีการวิจัยทางคลินิกครบทั้ง 3 ระยะ จะได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากไม่มีอุปสรรคจะเข้าสู่การผลิตในโรงงานขององค์การเภสัชกรรม โดยมีกำลังการผลิต 25 ล้านโดสต่อปี และจะทำให้ไทยจะมีโรงงานผลิตวัคซีนแห่งที่ 2 หากสำเร็จตามเป้า ประเทศไทยจะเป็นฐานผลิตวัคซีนระดับภูมิภาค โดยหลักการของไทยคือต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทคโนโลยีการนำวัคซีนมาเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ฟัก เป็นเทคโนโลยีทีใช้กันมายาวนาน และยังเป็นเทคโนโลยีหลักที่ได้รับความนิยมในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงให้เห็นว่าปริมาณวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ทั่วโลกในปี 2562 จำนวนกว่า 1.48 พันล้านโดส หรือกว่าร้อยละ 80 เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟัก วัคซีนที่ผลิตมีความปลอดภัยสูง มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพที่ดีเช่นเดียวกับการผลิตด้วยเทคโนโลยีอื่น และเป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก อีกทั้งต้นทุนการผลิตต่ำ มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อนมาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีบริษัทอื่นในต่างประเทศใช้เทคโนโลยีนี้สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิดด้วยเช่นกัน
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ในภาพรวม สธ. สามารถบรรลุข้อตกลงกับทีมผู้ผลิตในการจัดหาวัคซีนได้ตามเป้า 63 ล้านโดส เพื่อมาฉีดให้คนไทย และผู้ที่ทำงานในประเทศ โดยวัคซีนที่จะได้รับมาจากการติดต่อจากทีมผู้ผลิตหลายทีม และได้คัดเลือกทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ โดยในเดือน ก.พ.นี้ จะได้วัคซีนจากจีน 2 แสนโดส , มี.ค. 8 แสนโดส และ เม.ย. อีก 1 ล้านโดส วัคซีนดังกล่าวได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจากประเทศต้นทางแล้ว เอกสารกำลังทยอยมาให้ทางการไทยพิจารณา เพื่อขึ้นทะเบียนภายในประเทศ ตามแผนจะพิจารณาได้ทันวันที่วัคซีนเข้ามาในไทย อย่างไรก็ตามการบริการวัคซีนต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก
หลังจากได้รับวัคซีนจากจีน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการให้บริการ และภายใน มิ.ย. นี้ จะได้วัคซีนล็อตใหญ่จากการผลิตในประเทศ เห็นได้ว่าการให้บริการวัคซีนของไทย คำนึงถึงเรื่องความต่อเนื่อง อีกทั้งเน้นย้ำว่า ทาง สธ. คิด วิเคราะห์บนพื้นฐานวิชาการ ไม่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน และวัคซีนที่ดีที่สุดคือ หน้ากากอนามัย เพราะวิธีการนี้ พิสูจน์มาแล้วแน่นอนว่า ป้องกันโรคได้จริง ขอให้ปฏิบัติต่อไป แม้จะได้วัคซีนแล้วก็ตาม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage