‘กฟผ.-กองทัพบก’ เซ็นเอ็มโอยูศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าทางเลือกในพื้นที่ทบ. นำร่อง ‘โซล่าร์ฟาร์ม’ ในพื้นที่แก่งเสี้ยน กาญจนบุรี 3,000 ไร่ กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ คาดศึกษาเสร็จใน 3 เดือน 'ผู้ว่าฯกฟผ.' ชี้เป้าลงทุน 3 หมื่นเมกะวัตต์ เป็นเรื่องระยะยาว
................
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมที่อยู่ในการดูแลของกองทัพบก (ทบ.) ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ 4.5 ล้านไร่
โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ 3 แสนไร่ ซึ่งคาดว่าจะเหมาะสมในการลงทุนโซล่าร์ฟาร์มเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้
นายบุญญนิตย์ ให้สัมภาษณ์หลังการลงนามว่า หลังจากลงนามเอ็มโอยูแล้ว กฟผ.จะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกในพื้นที่ของกองทัพบก โดยจะเข้าไปศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในพื้นที่ ต.แก่งเสี้ยน ซึ่งเริ่มต้นจากพื้นที่ 3,000 ไร่ก่อน คาดจะผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ได้ 300 เมกะวัตต์ (MW) ทั้งนี้ ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จใน 3 เดือน และจะมีคำตอบว่ากฟผ.และผู้เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกันอย่างไร
“กองทัพบกมีพื้นที่ ส่วนกฟผ.มีเทคโนโลยี ซึ่งพื้นที่ของกองทัพบกที่มีศักยภาพ 3 แสนไร่นั้น เท่ากับ 3 หมื่นเมกะวัตต์ เป็นตัวเลขที่ใหญ่มากๆของประเทศไทย โดยกฟผ.เห็นว่าเรื่องนี้ตอบโจทย์ของพลังงานทดแทนในอนาคต และเราเองก็พยายามผลักดันให้มีมากที่สุด ขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ก็มีการสนับสนุนเรื่องนี้อยู่แล้ว ผมถือว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ควรให้การสนับสนุนอย่างยิ่ง” นายบุญญนิตย์กล่าว
นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างกฟผ.และกองทัพบก ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าโซล่าเซลล์ครั้งนี้ จะทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ถูกลง เพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ถูกลงมากแล้ว และเมื่อไม่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินแล้วต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะลดลงอีก
ส่วนแผนการลงทุนผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ 3 หมื่นเมกะวัตต์ในพื้นที่ต.แก่งเสี้ยนนั้น นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาลงทุนกี่ปี และการลงทุนดังกล่าวถือเป็นเรื่องระยะยาว อีกทั้งการผลิตไฟฟ้า 3 หมื่นเมกะวัตต์นั้น เกือบจะเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ จึงต้องมีการหารือเกี่ยวกับแผน PDP ด้วย แต่โดยหลักการแล้ว เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น จะต้องลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่นๆที่ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร (ซ้าย) และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ (ขวา)
พล.ท.รังสี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในฐานะตัวแทนของกองทัพบก และผู้ริเริ่มแนวคิดโครงการฯ กล่าวว่า หากมีการลงทุนผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ในพื้นที่แก่งเสี้ยนครบทั้ง 3 แสนไร่ จะผลิตไฟฟ้าได้ 3 หมื่นเมกะวัตต์ และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากการระดมทุนจากภาคเอกชน ขณะที่การผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 1 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ จะมีการใช้วิธี ‘Barter Trade’ กับประเทศที่จำหน่ายเทคโนโลยีโซล่าเซลล์ คือ จะมีนำสินค้าเกษตรของไทยไปแลกกับอุปกรณ์ต่างๆในมูลค่าเท่ากัน ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการขายสินค้าเกษตร
นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ในฐานะเอกชนรายหนึ่งที่สนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการความร่วมมือผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ระหว่าง กฟผ.และกองทัพบก กล่าวว่า PTG พร้อมสนับสนุนการลงทุนโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนหรือการสนับสนุนทุกด้าน โดยเฉพาะการลงทุนโซล่าร์ฟาร์มเฟสแรกในพื้นที่แก่งเสี้ยน จำนวน 300 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6-7,000 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
รุกโซล่าร์ฟาร์ม! ‘กฟผ.-กองทัพบก’เซ็นMOU ศึกษานำ ‘ที่ดิน ทบ.’ ผลิตไฟฟ้าทางเลือก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage