‘กฟผ.-กองทัพบก’ เตรียมเซ็น ‘เอ็มโอยู’ 28 ม.ค.นี้ ศึกษาความเป็นไปได้นำ ‘ที่ดิน’ ในการครอบครองของ ทบ. สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เน้น ‘โซลาร์เซลล์’ ขณะที่ข้อมูลงานวิจัย ‘สวพ.ทบ.’ เผย ‘กองทัพบก’ มีที่ดินในปกครองกว่า 8.9 ล้านไร่
..................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (28 ม.ค.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ระหว่างกองทัพบก และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และกองทัพบก ดังกล่าว จะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำที่ดินหรือที่ราชพัสดุที่อยู่ในการครอบครองของกองทัพบก มาพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก โดยเน้นการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม เป็นหลัก
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากข้อมูลงานวิจัยเรื่อง ‘โครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในความครอบครองของกองทัพบกด้วยระบบภูมิสารสนเทศ กรณีศึกษา: ในพื้นที่จังหวัดทหารบกกาญจนบุรี’ จัดทำเมื่อปี 2556 ของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) พบว่า รายงานวิจัยดังกล่าว มีการระบุถึงข้อมูลจำนวนที่ดินที่อยู่ในความปกครองของกองทัพบก ซึ่งมี 4 ประเภท เนื้อที่ประมาณ 8.9 ล้านไร่ ได้แก่
1.ที่ดินกรรมสิทธิ์ของกองทัพบกหรือของทางราชการ ซึ่งใช้ในราชการกองทัพบก หมายถึงที่ดินที่ใช้งบประมาณของกองทัพบกจัดซื้อ ที่ดินที่มีผู้โอนกรรมสิทธิ์ยกให้หรือการโอนแลกเปลี่ยนที่ดินที่ได้จากการเวนคืน เพื่อใช้ในราชการกองทัพบก รวมทั้งที่ดินของส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรมอื่นที่โอนให้กองทัพบก ที่ดินประเภทนี้มี 34 แห่งทั่วประเทศมีเนื้อที่ประมาณ 460,820 ไร่ มีทั้งที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนด หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้วแต่กรณี โดยที่ดินประเภทนี้ถือว่าเป็นที่ดินราชพัสดุ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
2.ที่ดินสงวนและที่ดินหวงห้ามในความครอบครองของกองทัพบก ออกตามพ.ร.บ.การหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 โดยออกเป็นพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินหวงห้ามมีทั้งหมด 12 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 2,607,730 ไร่ ต่อมาพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปโดยพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แต่ที่ดินดังกล่าวยังเป็นที่ดินหวงห้ามต่อไปอาศัยอำนาจความในมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
นอกจากที่ ดินหวงห้ามแล้ว กองทัพบกยังได้ขอสงวนที่ดินไว้ใช้ในราชการอีก 9 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 860,727 ไร่ โดยที่ดินสงวนและที่ดินหวงห้ามที่กองทัพบกได้สงวนหวงห้ามไว้ เพื่อประโยชน์ในราชการกองทัพบกอันเป็นประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะนั้น เป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2518 โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
3.ที่ดินยืมจากหน่วยราชการอื่นหรือเอกชน เมื่อหมดความจำเป็นในการใช้ราชการแล้ว กองทัพบก ต้องส่งคืนให้แก่ส่วนราชการนั้นหรือเอกชน ผู้ถือกรรมสิทธิ์
4.ที่ดินเช่าจากหน่วยราชการอื่นหรือเอกชน ประกอบด้วย
-ที่ดินกรรมสิทธิ์และที่ดินเช่า ประมาณ 1.3 ล้านไร่
-ที่ดินสงวน 11 แปลง ประมาณ 1.4 ล้านไร่
-ที่ดินหวงห้าม 12 แปลง ประมาณ 4.4 ล้านไร่
-ที่ดินยืม ประมาณ 2.7 ล้านไร่
สำหรับเนื้อที่ดินกรรมสิทธิ์และที่ดินเช่า และที่ดินสงวน ที่มีประมาณ 2.7 ล้านไร่นั้น ต่อมาได้แบ่งให้ส่วนราชการอื่นใช้ประโยชน์ไปไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านไร่ ส่วนที่ดินยืมกองทัพบกได้ขอยืมใช้จากกรมป่าไม้ 2.7 ล้านไร่ แต่ได้รับอนุญาตเป็นบางส่วน นอกนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมป่าไม้ ทำให้กองทัพบกมีที่ดินในความครอบครองส่วนนี้ประมาณ 5 ล้านไร่
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ร่วมกับนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก” โดยเอ็มโอยูดังกล่าวจะให้กรมธนารักษ์เข้ามาบริหารจัดการที่ดินของกองทัพบกประมาณ 1 ล้านไร่ และนำรายได้จากการบริหารจัดการที่ดินมาจัดเป็นสวัสดิการกลางของกองทัพบก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage