ครม.ไฟเขียวลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ลดค่าธรรมเนียม ‘โอน-จดจำนอง’ เหลือ 0.01% อุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์-ผู้ซื้อบ้านใหม่ คาดทำ ‘อปท.’ สูญรายได้ 4.1 หมื่นล้าน สั่ง ‘สำนักงบฯ’ จัดสรรงบชดเชยตามความเหมาะสม
...................
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมได้ตามปกติ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีภาษี 2564 ลงในอัตรา 90% ของภาษีที่คำนวณได้จากการจัดเก็บของปีภาษี 2564
พร้อมกันนั้น ครม.มีมติเห็นชอบการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เพื่อบรรเทาภาระของให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเอง รวมทั้งรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะเชื่อมโยงกับการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 0.01% และการลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% เฉพาะการซื้อขาย ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ จากผู้จัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือห้องชุดจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอาคารชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ การจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564
นายอาคม กล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ปีภาษี 2563 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อทำให้ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีออกไป 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 มี.ค.2564 ให้ขยายเวลาเป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย.2564 เฉพาะการยื่นแบบผ่านระบบอินเตอร์เน็ตหรือ อี-ไฟลิ่ง
2.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบและการนำส่งหรือชำระภาษี สำหรับเดือนม.ค.-พ.ค.2564 ซึ่งต้องยื่นแบบฯในเดือนก.พ.-มิ.ย.2564 ให้ขยายเวลาออกไปเป็นวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ เฉพาะการยื่นแบบผ่านระบบอินเตอร์เน็ตหรือ อี-ไฟลิ่ง
นายอาคม กล่าวถึงการลงทะเบียนโครงการ ‘เราชนะ’ ว่า กลุ่มประชาชนที่ยังเคยมีฐานข้อมูลในระบบของรัฐ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.2564 ส่วนกลุ่มที่มีฐานข้อมูลแล้ว เช่น กลุ่มที่มีแอพฯ ‘เป๋าตัง’ อาทิ ผู้ที่เคยลงทะเบียนโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ และ ‘คนละครึ่ง’ สามารถตรวจสอบสิทธิได้ทางเว็บไซด์ www.เราชนะ.com ส่วนกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะลงทะเบียนให้โดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีเป็นกลุ่มประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนนั้น กระทรวงการคลังจะให้เครือข่ายธนาคารของรัฐ และขอให้เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย เข้าไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ในการลงทะเบียน
นายอาคม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการดูแลกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อยและลูกจ้างของส่วนราชการที่มีรายได้น้อยนั้น จะแยกการช่วยเหลือออกจากโครงการ ‘เราชนะ’ เนื่องจากข้าราชการและลูกจ้างดังกล่าวมีกติกาในการรับเงินเดือนอยู่ โดยจะประกาศรายละเอียดให้รับทราบต่อไป
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงในอัตรา 90% และการลดค่าจดทะเบียนการโอนและจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ นั้น จะทำให้ในปี 2564 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องสูญเสียรายได้จากมาตรการลดภาษีดังกล่าว ประมาณ 41,445 ล้านบาท ครม.จึงมีมติให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ตามความเหมาะสมต่อไป
ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี ให้แก่ผู้ประกอบกิจการสปาและกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม เป็นเวลา 1 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพต้องปิดกิจการ มีรายได้ลดลง
ปัจจุบัน มีกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีประเภทกิจการสปา 896 ร้าน โดยเสียค่าธรรมเนียมปีละ 1,000 บาท และกิจการนวดเพื่อสุขภาพและเพื่อเสริมความงาม 9,918 ร้าน โดยเสียค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท ซึ่งผลจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีรวมเป็นเงิน 5.82 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
อนุมัติ'เราชนะ'เยียวยา 7,000 บาท เริ่มลงทะเบียน 29 ม.ค.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage