วงเสวนาวิชาการ ชี้โควิดระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพราะไม่รู้ภาษาไทย เข้าใจสถานการณ์โรคไม่มาก อีกทั้งยังตกงาน อยู่กันแออัด ไร้อุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอ และไม่รู้สิทธิประโยชน์ของตัวเองที่ได้จากรัฐ แนะรัฐจัดระเบียบระบบการเข้าเมืองใหม่ - เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังชายแดนใกล้ชิดช่วง 25 ม.ค.-13 ก.พ. หวั่นคนลักลอบเข้าเมืองทะลัก หลัง ครม.เปิดช่องให้ลงทะเบียนแรงงานถูกกฎหมาย
.............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ศูนย์เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียมทางสังคม จัดเวทีวิชาการสนทนาสาธารณะความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม ครั้งที่ 10 ในหัวข้ออนาคตประเทศไทยที่จะไม่ไร้สิ้นแรงงานข้ามชาติและโควิด เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาประชากรแรงงานข้ามชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานไทย และสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ท่ามกลางการระบาดของโควิด
ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันนักวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยมีจำนวนแรงงานข้ามชาติ 4.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรแรงงานทั้งหมด โดยการรับรู้ข้อมูลโควิดจัดอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากขาดทักษะการฟังและการอ่านภาษาไทย นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ประกอบการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการระบาดให้แรงงานเพียงร้อยละ 33 มีการจัดหาให้แต่ยังไม่เพียงพอร้อยละ 46 ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันร้อยละ 17 และเป็นแรงงานที่ไม่มีนายจ้างร้อยละ 4 โดยประชากรแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ไม่มีประกันสังคมถึงร้อยละ 52 และไม่ได้รับสิทธิการเยียวยาช่วยเหลือร้อยละ 92
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากปัญหาข้างต้น การสำรวจประชากรแรงงานข้ามชาติ ยังพบว่ามีปัญหาอีกหลายประเด็น เช่น การอยู่อาศัยที่แออัด , การกระจุกตัวกันมาก ขึ้นจากการปิดโรงงาน ทำให้ต้องอยู่แต่ในที่พัก , โรงงานที่จ้างปิด ไม่จ่ายค่าจ้างหรือเงินชดเชย , ไม่อยากกลับประเทศ เนื่องจากไม่มีงานทำ , ขาดความรู้ในสิทธิประโยชน์ที่ตนเองควรได้รับ , เด็กข้ามชาติเรียนออนไลน์ได้ยาก และศูนย์เรียนรู้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบเว้นระยะห่างได้ , การนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากประเทศต้นทางไม่ชัดเจน และมีการหาผลประโยชน์เรียกรับเงินโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
รศ.ดร.กิริยา กล่าวด้วยว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเปิดให้มีการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 64 - 13 ก.พ.64 เพื่อนำแรงงานเข้าสู่ระบบ และพิสูจน์ตัวตน ภาครัฐควรควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวดด้วย เพื่อป้องกันการลักลอบกลับเข้าไทยอีกครั้งของแรงงานข้ามชาติในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิดซ้ำอีกรอบ
ด้าน นายศิววงศ์ สุขทวี นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า การแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ควรเริ่มต้นจากการจัดระบบการเข้าเมือง เพื่อขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง รวมถึงการสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ จะช่วยทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันจนสามารถแก้ไขให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้อย่างครอบคลุม จะช่วยแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติผ่านช่องทางผิดกฎหมาย และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพที่แรงงานข้ามชาติควรจะได้รับ ได้เป็นอย่างดี
“สิ่งที่รัฐกำลังทำโดยการให้ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งผมอยากผลักดันให้มีการทำอย่างต่อเนื่อง จนครอบคลุมทั้งหมด เพราะการดึงทุกคนเข้าระบบย่อมดีกว่าการผลักทุกคนให้ออกนอกระบบ และช่วยลดต้นทุนในการรับมือกับการระบาดของโควิดได้มากกว่าด้วย” นายศิววงศ์ กล่าว
นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของภาครัฐ เราแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่งมาก แต่ยังขาดความต่อเนื่องในแผนระยะยาว ซึ่งตนเองมองว่าภาครัฐหรือผู้บริหารระดับนโยบายควรจะรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนจริง ๆ ไม่ควรรับฟังผ่านผู้ปฏิบัติหน้าที่เพียงอย่างเดียว แล้วมาร่วมมือกัน วางแผนกันใหม่ ทำกันใหม่
ด้านนายธนิทธิ์ ลอยพิมาย ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชน ควรมีการหารือร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ความต้องการแรงงานข้ามชาติถึงจำนวนและทักษะที่ต้องการที่กำลังขาดแคลนในปัจจุบัน รวมถึงการจัดหาหรือเตรียมแหล่งพักพิงที่เหมาะสมให้กับแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้หน่วยงานด้านสุขภาพต้องให้ความสำคัญในการรับสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น และภาครัฐควรมีการสนับสนุนให้เกิดการวางแผนทางการเงินให้กับแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การระบาดของโควิดด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage