ผ่าเม็ดเงินเฉียด 9 พันล้าน! ป.ป.ช.ใช้ในแผนต้านการทุจริตฯระยะ 1 ปี 63-65 ปลูกจิตสำนึกพลเมือง-ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของ ขรก.-จนท.รัฐ พัฒนาค่านิยมนักการเมือง ปรับระบบ-ปรับโครงสร้างองค์กรลดคดีทุจริต เพิ่มประสิทธิภาพกลไกปราบปราม หวังดันคะแนน CPI ไทยได้ 50 คะแนน ติดท็อป 54 โลก
..........................
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563-2565 แก่คณะรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามแผนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ โดยแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จัดทำขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยได้รับผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อยู่ในอันดับ 1 ใน 54 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 50 คะแนนภายในปี 2565 โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) มีข้อเสนอแนะสำคัญหลายประการตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วนั้น (อ่านประกอบ : สภาพัฒน์ฯแนะ ป.ป.ช.เชื่อมข้อมูลดิจิทัลใช้สอบบัญชีทรัพย์สิน-ตีราคากลาง‘พระเครื่อง’, แผนต้านทุจริตฯ ป.ป.ช.หวังดัน CPI ไทยติดท็อป 54 โลก-สภาพัฒน์ฯชี้ควรทำให้คนรู้ซึ้งโทษ)
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตฯดังกล่าวของสำนักงาน ป.ป.ช. แบ่งเป็น 2 แผนย่อยสำคัญคือ แผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ใช้วงเงินงบประมาณปี 2563-2565 อย่างน้อย 8,649.8293 ล้านบาท และแผนย่อยการปราบปรามการทุจริต วงเงินงบประมาณปี 2563-2565 อย่างน้อย 257.5498 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแผนดังกล่าวจะใช้งบประมาณปี 2563-2565 อย่างน้อย 8,907.3791 ล้านบาท
สำหรับการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติ มีกลไกผลักดันคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ โดยใช้ความร่วมมือร่วมใจ (Collabboration) ในรูปแบบ Orchestra Model ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน โดยมีผู้นำที่ทำหน้าที่ผสานความร่วมมือร่วมใจ และผสานเป้าหมายที่แตกต่างให้ร้อยเรียง และเชื่อมโยงไปยังวัตถุประสงค์ร่วมกัน จะมีการติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานรายไตรมาส และประเมินผลสำเร็จระดับโครงการและภาพรวมเป็นรายปี โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะสำนักเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติฯ พัฒนาขึ้น
1.แผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีเป้าหมาย 2 ประการคือ 1) ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต และ 2) คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง โดยมีแนวทางพัฒนาดังนี้
หนึ่ง แนวทางปลูกจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีวัฒนธรรมสุจริต และการปลูกฝังหล่อหลอมวัฒนธรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชน และประชาชนทุกช่วงวัยทุกระดับ โดยมีโครงการร่วมขับเคลื่อนในปี 2563 จำนวน 28 โครงการ งบประมาณ 205.7507 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 42 โครงการ งบประมาณ 560.7156 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 76 โครงการ งบประมาณ 2,534.9827 ล้านบาท รวมปี 2563-2565 จำนวน 146 โครงการ งบประมาณ 3,301.4490 ล้านบาท
สอง ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความใสสะอาด ปราศจากพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต โดยมีโครงการขับเคลื่อนในปี 2563 จำนวน 181 โครงการ งบประมาณ 287.2133 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 192 โครงการ งบประมาณ 1,111.2979 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 159 โครงการ งบประมาณ 1,093.2726 ล้านบาท รวมปี 2563-2565 จำนวน 532 โครงการ งบประมาณ 2,491.7838 ล้านบาท
สาม พัฒนาค่านิยมของนักการเมืองให้มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม โดยมีโครงการร่วมขับเคลื่อนในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 0.3300 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 1 โครงการ ดำเนินการเอง ไม่มีค่าใช้จ่าย และปี 2565 จำนวน 7 โครงการ งบประมาณ 6 ล้านบาท รวมปี 2563-2565 จำนวน 10 โครงการ งบประมาณ 6.3300 ล้านบาท
สี่ ปรับระบบเพื่อลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ โดยมีโครงการร่วมขับเคลื่อนในปี 2563 จำนวน 58 โครงการ งบประมาณ 310.8908 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 55 โครงการ งบประมาณ 377.8448 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 45 โครงการ งบประมาณ 284.2072 ล้านบาท รวมปี 2563-2565 จำนวน 158 โครงการ งบประมาณ 972.9428 ล้านบาท
ห้า ปรับระบบงานและโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการลดการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยมีโครงการร่วมขับเคลื่อนในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 115.1109 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 937.7930 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 17 โครงการ งบประมาณ 824.4198 ล้านบาท รวมปี 2563-2565 จำนวน 57 โครงการ งบประมาณ 1,877.3237 ล้านบาท
2.แผนย่อยการปราบปรามการทุจริต มีเป้าหมายให้ดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ โดยแนวทางการพัฒนาดังนี้
หนึ่ง เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการและกลไกการปราบปรามการทุจริต โดยมีโครงการร่วมขับเคลื่อนในปี 2563 จำนวน 3 โครงการ งบประมาณ 2.8 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 4 โครงการ งบประมาณ 7.1675 และปี 2565 จำนวน 4 โครงการ ดำเนินการเอง ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวม 11 โครงการ งบประมาณ 9.9675 ล้านบาท
สอง ปรับปรุงกระบวนการปราบปรามการทุจริตที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีโครงการร่วมขับเคลื่อนในปี 2563 จำนวน 8 โครงการ งบประมาณ 58.5680 ล้านบาท ปี 2564 จำนว 9 โครงการ งบประมาณ 85.4317 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 17 โครงการ งบประมาณ 74.2788 ล้านบาท รวมปี 2563-2565 จำนวน 34 โครงการ งบประมาณ 218.2785 ล้านบาท
สาม พัฒนาจัดการองค์ความรู้ด้านการปราบปรามการทุจริต โดยมีโครงการร่วมขับเคลื่อนในปี 2563 จำนวน 5 โครงการ งบประมาณ 5.5920 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 14 โครงการ งบประมาณ 19.9718 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 3 โครงการ งบประมาณ 3.7400 ล้านบาท รวมปี 2563-2565 จำนวน 22 โครงการ งบประมาณ 29.3038 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
สภาพัฒน์ฯแนะ ป.ป.ช.เชื่อมข้อมูลดิจิทัลใช้สอบบัญชีทรัพย์สิน-ตีราคากลาง‘พระเครื่อง’
แผนต้านทุจริตฯ ป.ป.ช.หวังดัน CPI ไทยติดท็อป 54 โลก-สภาพัฒน์ฯชี้ควรทำให้คนรู้ซึ้งโทษ
ประกาศดัชนีการทุจริต 2019 อันดับไทยร่วงอยู่ที่ 101 ของโลก ได้ 36 คะแนนเท่าเดิม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage