เปิดแผนต่อต้านการทุจริตฯ ป.ป.ช. ระยะ 1 หวังดันคะแนน CPI ให้ได้ 50 คะแนนติด 1 ใน 54 อันดับท็อปโลก จากเดิมปี 2562 ได้แค่ 36 คะแนน สภาพัฒน์ฯยังแนะเพิ่ม ควรแก้ตัวชี้วัดการชี้มูลผิด จนท.รัฐ-ตั้งพื้นฐานดำเนินคดีตั้งแต่ต้น เพื่อให้ประชาชนเห็นโทษของการทุจริต
.........................
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563-2565 แก่คณะรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามแผนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ โดยแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จัดทำขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยได้รับผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อยู่ในอันดับ 1 ใน 54 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 50 คะแนนภายในปี 2565 โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินถึงสำนักงาน ป.ป.ช. ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วนั้น (อ่านประกอบ : สภาพัฒน์ฯแนะ ป.ป.ช.เชื่อมข้อมูลดิจิทัลใช้สอบบัญชีทรัพย์สิน-ตีราคากลาง‘พระเครื่อง’)
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า สำหรับแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563-2565 มีสาระสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ แผนระดับที่ 1 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
แผนระดับที่ 2 สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในส่วนยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ในส่วนเป้าหมายที่ให้หน่วยงานภาครัฐมีระบบป้องกันและแก้ไขการทุจริตและประชาชนไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ
แผนระดับที่ 3 ที่เกี่ยวข้อง คือ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 มีความสอดคล้องทั้งในระดับวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand) และเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ คือ ระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) สูงกว่าร้อยละ 50
แผนปฏิบัติการ ด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแปลงแนวทางการพัฒนาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบผลักดันไปสู่การปฏิบัติ และบริหารการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยมีเป้าหมายหลักให้ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ในช่วงปี 2563 - 2565 อยู่ในอันดับ 1 ใน 54 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย 2 แผนย่อย 3 เป้าหมาย และ 9 ตัวชี้วัด
อย่างไรก็ดีแผนดังกล่าว สภาพัฒน์ฯ มีข้อเสนอแนะสำคัญอีกอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่
1.ตัวชี้วัดด้านข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ถูกชี้มูลผิด ควรพิจารณาเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่มาจากการร้องเรียนของประชาชน เช่น ข้อมูลการร้องเรียนหรือร้องทุกข์ของประชาชนที่ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (สายด่วน 1111) สามารถจำแนกตำแหน่งที่ตั้งของผู้ร้องเรียน เพื่อทำฐานข้อมูลการร้องเรียนด้วยระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและเปิดเผยได้ รวมทั้งกำหนดระดับความสำเร็จในการดำเนินการแก้ไขตามข้อร้องเรียนของประชาชนไว้ในตัวชี้วัดด้วย เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน
2.ตัวชี้วัดด้านการดำเนินคดีทุจริตบางรายการ เช่น กระบวนการดำเนินคดีที่ต้องขยายเวลา และจำนวนคดีที่ถูกฟ้องกลับ ควรหา baseline (พื้นฐาน) ของการดำเนินการพิจารณาตั้งแต่เริ่ม จนถึงการปิดคดีของกรณีต่าง ๆ และตั้งเป้าหมายเรื่องความสำเร็จของประบวนการดำเนินคดีให้เร็วขึ้น เนื่องจากผลงานในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่แท้จริงเช่นนี้ จะช่วยให้ประชาชนและเยาวชนเห็นผลว่า การทุจริตมีโทษชัดเจน จะสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายด้านทัศนคติที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้อาจแยกข้อมูลระยะเวลาตามประเภทของการทุจริตที่มีความแตกต่างกัน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การบรรจุแต่งตั้ง กระบวนการยุติธรรม และการออกใบอนุญาต และให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยเว็บไซต์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนต่อต้านการทุจริตฯ ระยะที่ 1 ของสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อหวังผลักดันให้คะแนน CPI ได้ถึง 50 คะแนน และติดอันดับ 1 ใน 54 ประเทศ อย่างไรก็ดีคะแนน CPI ของไทย ตามรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ITA) ระบุว่า เมื่อปี 2562 ไทยได้ 36 อยู่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก
อ่านประกอบ :
สภาพัฒน์ฯแนะ ป.ป.ช.เชื่อมข้อมูลดิจิทัลใช้สอบบัญชีทรัพย์สิน-ตีราคากลาง‘พระเครื่อง’
ประกาศดัชนีการทุจริต 2019 อันดับไทยร่วงอยู่ที่ 101 ของโลก ได้ 36 คะแนนเท่าเดิม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage