กพอ.วาง 3 แนวทางผลักดันการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ในพื้นที่ EEC เริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่ ‘สนามบิน-ฐานทัพเรือ-นิคมฯมาบตาพุด-บ้านฉาง’ ตั้งเป้าให้มีการใช้งานในพื้นที่โรงงาน 1 หมื่นแห่ง-โรงแรม 300 แห่ง
...............
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.โหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)
สำหรับแนวทางการผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G ได้แก่ 1.สร้างผู้ใช้ 5G อย่างเป็นระบบ ผลักดันการใช้เทคโนโลยี 5G ในโรงงานในพื้นที่เขตส่งเสริมอีอีซี 10,000 แห่ง และโรงแรมในอีอีซี 300 แห่ง รวมถึงหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และผู้ประกอบเอสเอ็มอี โดยจัดทำโครงการนำร่องทดลองใช้ระบบ 5G เริ่มตั้งแต่บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอ.บ้านฉาง จ.ระยอง
2.เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูล โดยผลักดันให้ภาคเอกชนและภาครัฐจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ โดยมี EECd เป็นจุดติดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) พร้อมทั้งวางแนวทางและปรับปรุงข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลคลาวด์ภาครัฐ และคลาวด์ภาคเอกชน เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้มาจัดทำข้อมูลกลาง เพื่อให้ภาคธุรกิจและกลุ่มสตาร์ทอัพ นำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ เช่น E-Commerce การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการแพทย์
3.พัฒนาบุคลากรดิจิทัล ผลักดันเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New) 1 แสนคน รวมทั้งปรับแนวทางการดำเนินโครงการ EECd โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีประสบการณ์จัดตั้งเขตนวัตกรรมดิจิทัลในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน และสหภาพยุโรป โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นเจ้าภาพ
นายคณิศ แสงสุพรรณ. เลขาธิการสกพอ. กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนโครงข่าย 5G ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกำหนดให้ต้องลงทุนโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ 50% ของอีอีซีภายใน 1 ปี หรือภายในเดือนก.พ.2564 ว่า เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตฯได้ลงทุนโครงข่ายท่อเสาสายครอบคลุม 80% ของพื้นที่เป้าหมายแล้ว ส่วนที่เหลือจะลงทุนโดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และเพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีการใช้เสาสัญญาณร่วมกัน
“เราไม่ได้รอช้า ประมูล 5G เสร็จ วางโครงสร้างพื้นฐานเสร็จ เราก็วางเรื่องการใช้ประโยชน์จาก 5G ทับลงไป เช่น ที่สนามบินเราจะทำสมาร์ทแอร์พอร์ต ที่บ้านฉางเรากำลังสนใจว่าชุมชนจะใช้ประโยชน์อะไรบ้าง เช่น ส่งผู้ป่วย การจราจร และการดูแลความสงบเรียบร้อย รวมทั้งพื้นที่บ้านฉางเป็นสนามบิน ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็น 5G จะไปอยู่ที่บ้านฉางได้ ส่วนนิคมฯมาบตาพุด เราจะเอา 5G ไปใช้ใรงงาน โดยเริ่มทำโครงการต้นแบบกับกลุ่มปตท.แล้ว” นายคณิกล่าว
นอกจากนี้ กพอ. ยังรับทราบการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีพบว่า ในช่วง 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย.2563) มีโครงการขอรับส่งเสริมฯ 387 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.28 แสนล้านบาท เทียบเท่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งประเทศ โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 7.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี โดยนักลงทุนที่สนใจจะลงทุน
ขณะที่สำนักงานบีโอไอได้ประสานกระทรวงต่างประเทศ ทดลองผ่อนผันการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่อความสะดวกและเป็นแรงจูงใจ ให้กับนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในอีอีซี
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ความก้าวหน้าในการดำเนินงานในพื้นที่อีอีซี ถือว่าเป็นอนาคตของประเทศไทยที่ต้องช่วยกันให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อยถูกต้องตามระเบียบ และเป็นไปตามแผนงาน พร้อมย้ำจะต้องหาวิธีการให้มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้มากขึ้น และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น
อ่านประกอบ :
บีโอไอหารือร่วมกับผู้บริหาร สกพอ. ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
เครือข่ายชาวบ้าน 3 จว.ตะวันออกฟ้องศาลปกครองฯเพิกถอนการใช้ที่ดินอีอีซี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/