มีผู้ร้องเรียนปัญหาช่วง ก.ค.! เปิดหนังสือรองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯถึงกฤษฎีกา หารือกฎหมาย 5 ประเด็น ปมตั้ง ปธ.-กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลัง ครม.อนุมัติไปแล้ว แต่ไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
........................................
จากกรณีเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบรายชื่อประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวม 10 ราย อย่างไรก็ดีจนถึงปัจจุบันยังมิได้มีการนำรายชื่อดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา กระทั่งได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงว่า มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้สั่งการให้ดึงเรื่องกลับมา เนื่องจากมีรายชื่อกรรมการบางรายถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามกับกลุ่มอำนาจในรัฐบาล ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล และปฏิเสธว่าไม่มีผู้ใหญ่ดึงเรื่องกลับ แต่ยอมรับว่ามีการส่งเรื่องนี้กลับมาให้ทบทวนจริงนั้น (อ่านประกอบ : 'บิ๊กรบ.' สั่งโละชื่อ คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ - รมว.ดีอีเอส แจงแค่ทบทวนสรรหาเปิดกว้างทุกฝ่าย)
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2563 นายพุทธิพงษ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มีการส่งประเด็นนี้ให้แก่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อวินิจฉัยตีความข้อกฎหมายแล้ว คาดว่าจะได้รับคำตอบในเร็ว ๆ นี้ (อ่านประกอบ : รอกฤษฎีกา! ‘พุทธิพงษ์’เผยความคืบหน้าตั้ง คกก.ข้อมูลส่วนบุคคล-คาดเป็นตามที่สรรหา)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ในหนังสือของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ส่งไปหารือข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามโดยนายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการสรรหาประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังกล่าวแล้ว
หนังสือดังกล่าวสรุปได้ว่า สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กรณีการสรรหารประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 กระทรวงดิจิทัลฯ มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการสรรหา รวม 8 ราย
ต่อมา สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ทราบข้อเท็จจริงว่า นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกษียณอายุราชการ จึงมีหนังสือขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยืนยันรายชื่อบุคคลเพื่อเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาอีกครั้งหนึ่ง โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีหนังสือด่วนมากแจ้งว่า ได้มีการประชุมเห็นชอบบุคคลแต่งตั้งกรรมการสรรหา 2 รายใหม่
หลังจากนั้นสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีผู้สมัครในส่วนประธานกรรมการเพียงตำแหน่งเดียว 2 ราย ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 13 ราย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 89 ราย รวม 104 ราย ต่อมาคณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกบุคคล พร้อมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม เพื่อเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 10 ราย ก่อนแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้ง หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งยืนยันมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 อนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลฯเสนอ
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2563 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือลับ ด่วนที่สุด แจ้งว่า มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการสรรหาประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ขอให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง ต่อมาสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้หารือประธานกรรมการสรรหา เกี่ยวกับความถูกต้องของกระบวนการสรรหาดังกล่าว
โดยมีข้อหารือด้านกฎหมายถึงคณะกรรมการกฤษฎีการวม 5 ประเด็น ได้แก่
1.กระบวนการแต่งตั้งกรรมการสรรหาดำเนินการถูกต้องตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 แล้วหรือไม่ อย่างไร
2.การที่มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการเพียงตำแหน่งเดียว จำนวน 2 ราย สมัครทั้งตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 13 ราย และสมัครตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตำแหน่งเดียว 89 ราย ถือว่าจำนวนผู้สมัครดังกล่าวครบถ้วนตามข้อ 5 (1) และ (2) ของระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563 แล้วหรือไม่
3.ตามข้อ 8 ของระเบียบฯดังกล่าว กำหนดว่า “เมื่อคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามจำนวนที่กำหนดในมาตรา 8 (1) หรือมาตรา 9 (4) แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการสรรหาสิ้นสุดลง” การที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว แต่นายกรัฐมนตรียังมิได้ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 10 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลให้คณะกรรมการสรรหาสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ และหากคณะกรรมการสรรหายังไม่สิ้นสุดลง ประธานกรรมการสรรหามีอำนาจในการตีความและวินิจฉัยปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสรรหาดังกล่าวตามข้อ 10 วรรคสองของระเบียบฯดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร
4.การที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่ตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวแล้ว แต่นายกรัฐมนตรียังมิได้ประกาศรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีผลให้การแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ อย่างไร
5.กรณีตามข้อ 4. หากการแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ยังไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรียังมิได้ประกาศรายชื่อประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนในระหว่างเวลาดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://image.freepik.com/
อ่านประกอบ :
ใครเป็นใคร! คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ 10 ชื่อ ก่อน 'บิ๊กรบ.' สั่งทบทวนใหม่เปิดกว้างทุกฝ่าย
'บิ๊กรบ.' สั่งโละชื่อ คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ - รมว.ดีอีเอส แจงแค่ทบทวนสรรหาเปิดกว้างทุกฝ่าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/