เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อฯ เตรียมยื่นหนังสือถึง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ในฐานะปธ.กก.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ตีความประกาศกองทุนฯ ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.หรือไม่-หลังการวินิจฉัย ไม่ว่าผลเป็นอย่างไร พร้อมเดินหน้ายื่นศาลปค.ขอให้มีคำสั่งระงับการเบิกจ่ายของกองทุนพัฒนาสื่อฯ
..................................
เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบด้วย นายจารุวงศ์ ณ ระนอง นายณัฐพงศ์ เปาเล้ง และนายหนึ่ง (ตัวแทนเครือข่ายประชาชนฯ ขอสงวนนามจริง ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่าภายในสัปดาห์นี้เตรียมยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อตีความว่าประกาศกองทุนฯ ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 หรือไม่ ภายหลังจากก่อนหน้านี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อฯ ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานหลายแห่งเพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เนื่องจากเห็นว่า 95 โครงการที่ได้รับการอนุมัติ งบประมาณรวม 284,966,950 บาท มีสัดส่วนผู้รับทุนในกลุ่มบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อและอุตสาหกรรรมบันเทิง ได้งบประมาณรวม 153,198,585 บาท หรือร้อยละ 53.76 ของงบประมาณ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 หมวด 1 มาตรา 5 ที่ให้กองทุนมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
( อ่านประกอบ : ขีดเส้น15 วัน! ภาคปชช.ขู่ไม่ทบทวนโครงการกองทุนสื่อฯยื่นศาลปค.ขอระงับเบิกจ่ายงบ 300 ล. , ภาคปชช.ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบกองทุนพัฒนาสื่อฯ เบรกอนุมัติงบ 300 ล.เอื้อทุนใหญ่ )
นายหนึ่งระบุว่า นอกจากยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อให้วินิจฉัยตีความประเด็นประกาศกองทุนฯ แล้ว จากนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจะยื่นต่อประธานกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน , ประธานอนุกรรมการตรวจสอบกองทุนฯ , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
“ดังนั้น ก่อนไปศาลปกครอง รองนายกฯ วิษณุต้องเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดประกาศกองทุนฯ นี้ก่อน กรณีที่เรายื่นให้วินิจฉัยตีความว่านิติบุคคล ที่ระบุในประกาศกองทุนฯ ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.หลักหรือไม่” นายหนึ่งระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่าประเด็นที่จะให้นายวิษณุ เครืองาม ตีความคือประเด็นการตีความนิติบุคคลในประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 หรือไม่ หากวินิจฉัยว่าทางกองทุนฯ ทำถูกต้อง แม้นายวิษณุจะวินิจฉัยเช่นนั้น เครือข่ายภาคประชาชนก็จะยังเดินหน้ายื่นต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองตีความต่อไป
นายหนึ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า ตามประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2563 ข้อ 7 ระบุไว้ชัดเจนว่า “กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความหรือการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและคำวินิจฉัยให้ถือเป็นที่สุด”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้ลงนามคำสั่งดังกล่าวคือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นายหนึ่งระบุว่า “ดังนั้น กรณีนี้รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นประธานกรรมการกองทุนฯ ต้องวินิจฉัย นอกจากนี้ ถ้าศาลปกครองบอกว่าประกาศตัวนี้ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.กองทุนฯ ผู้จัดการกองทุนฯ จะรับผิดชอบกับเงินที่จ่ายไปแล้วไหวหรือไม่"
นายหนึ่งยังกล่าวถึงกรณีที่นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ระบุถึงการยื่นหนังสือของนายอำนาจ อุบลบาล ที่ขอให้ตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่าไม่ถือเป็นหนังสืออุทธรณ์ เนื่องจากไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับกองทุน เพราะนายอำนาจไม่ใช่เป็นผู้ขอทุนนั้น เป็นข้อมูลที่ผิด เนื่องจากนายอำนาจ อุบลบาล เป็นผู้จัดการบริษัทอาเล็ก สตูดิโอ ที่เป็นผู้ยื่นขอทุนโดยตรง ตนจึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้จัดการกองทุนฯ จึงไม่ตรวจสอบ ทั้งที่นายอำนาจเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ทางเครือข่ายภาคประชาชน ถือว่าเป็นหนังสืออุทธรณ์ (อ่านประกอบ : มองที่เนื้องานเป็นหลัก! ผจก.กองทุนสื่อฯ ยันอนุมัติงบโครงการ 284 ล.ปี 63 ไม่เอื้อทุนใหญ่ )
ด้านนายจารุวงศ์กล่าวว่า โดยหลักการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเจตนาที่จะให้ทุนกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเอกชน เน้นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร สิ่งนี้ชัดในตัวเองอยู่แล้ว เพราะพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ชัดเจนว่าไม่แสวงหากำไร ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อพูดถึงพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฯ เจตนารมณ์ชัดเจนว่ากองทุนต้องเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนภาคประชาชน องค์กร ศาสนา มูลนิธิ ให้เขามีโอกาสที่จะได้พัฒนาความสามารถในช่องทางที่ได้แสดงออกทางด้านสื่อที่ตรงกับเจตนารมณ์
ด้านนายณัฐพงศ์ กล่าวถึงรายละเอียดตามมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 หมวดที่ 1 ระบุใจความสำคัญ ให้กองทุนเป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ 1.รณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 3.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม 4.ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 5.ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างนวัตรกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 6.ส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 7.ดำเนินการและส่งเสริม ให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
นายณัฐพงศ์ กล่าวถึงประเด็นการตีความ “นิติบุคคล” ในประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่อาจเอื้อต่อการเปิดช่องให้บริษัทเอกชนเข้ามาได้และอาจขัดแย้งกับหลักการของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 เนื่องจาก ในประกาศข้อ 3.1.4 ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จึงจะสามารถยื่นขอรับทุนได้ ขณะที่การยกเหตุผลตามประกาศ ข้อ 3.1.2 (1) ระบุว่ามูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มากล่าวอ้าง จึงขัดแย้งกันเองกับประกาศ ข้อ 3.1.4 ซึ่งหากทางกองทุนแปลความหมายของประกาศตาม ข้อ 3.1.2 (1) เพียงข้อเดียว โดยไม่ดูเจตนารมณ์ของข้อ 3.1.4 จึงเป็นการตีความหมายโดยไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง และตีความหมายในลักษณะที่ขัดแย้งกันเองในเนื้อหาและความหมายของประกาศและขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกองทุน ตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 หมวด 1 มาตรา 5 (4) เนื่องจากผู้ที่ได้รับทุน จำกัดอยู่ในกลุ่มบริษัทเอกชนผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ และบางส่วนยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนประเด็น 157 โครงการ ที่ของบประมาณเกิน 5 ล้านบาท ได้เข้าไปเสนอโครงการแค่รายละประมาณ 5 นาที นั้น ตัวแทนเครือข่ายประชาชนทั้ง 3 รายระบุตรงกันว่า มองว่าเปรียบเสมือนการสร้างความชอบธรรมที่จะสร้างพิธีกรรมให้กับกระบวนการพิจารณา เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น “เมื่อคำนวณโดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละโครงการใช้เวลากี่นาที ปรากฏว่าคืนนั้น ทราบว่าโครงการล่าสุดที่เข้าไปนำเสนอโครงการ ต้องรอถึงเที่ยงคืน ขณะที่การยื่นขอทุน ก็เปิดให้ยื่นเพียงแค่ 15 วันทำการ ซึ่งน้อยเกินไป” นายหนึ่งระบุ
นายจารุวงศ์กล่าวว่า สุดท้ายแล้ว ในเรื่องของการระงับคำสั่งเบิกจ่าย ถือเป็นคำสั่งทางปกครองอยู่แล้ว แต่เครือข่ายประชาชนนำเสนอเพื่อให้เกิดการถกเถียงในสังคม ซึ่งก็ทราบมาว่ามีการหารือกันประเด็นนี้ภายในกองทุนฯ
อ่านประกอบ :
ระบบเสนอโครงการ 300 ล.ติดขัด! กองทุนสื่อฯ ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงหวั่นกระทบความน่าเชื่อถือ
แถลงการณ์ (ฉบับที่ 1) เครือข่ายประชาขนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ใครเป็นใคร! เปิดครบ 95 โครงการ-ผู้รับงบ 300 ล.กองทุนสื่อฯ ก่อน ภาคปชช. ยื่น สตง.สอบ
กว่าจะเป็น "กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage