ตร.ลุยสอบ 16 คน เข้าข่ายกระทำผิดหลังชุมนุม 19-20 ก.ย. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ทั้งไม่ได้ขออนุญาต-ชักชวนคนอื่น-ปราศรัยสุ่มเสี่ยง เก็บหลักฐานจากกล้องวงจรปิด-สื่อขยายผลด้วย ยันไม่ได้กลั่นแกล้ง ทำตามกรอบกฎหมาย – เอาสำนวน กทม.-กรมศิลปากร แจ้งความทำลายโบราณสถานมารวมไว้ด้วย 'อิทธิพล' ย้ำทำตามกฎหมาย ไม่มีนโยบายพิเศษจากรัฐบาล
......................
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. กล่าวถึงข้อกล่าวหาในการกระทำความผิดของกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา โดยพบว่า มีผู้เข้าข่ายกระทำความผิดอย่างน้อย 16 ราย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวขึ้นมาโดยไม่ได้ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ 2.กลุ่มเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม โดยการเชิญชวนมีทั้งที่ปราศรัยบนเวที และโพสต์ข้อความเชิญชวนทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเชิงสัญลักษณ์ในโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง และ 3.กลุ่มคนที่ขึ้นร่วมปราศรัยบนเวที โดยส่วนนี้อยู่ระหว่างาการแกะคำพูดปราศรัย บางช่วงบางตอนไม่เหมาะสม อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
พล.ต.ต.สุคุณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้ให้ชุดสืบสวนนำหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ประกอบกับหลักฐานจากสื่อมวลชนที่เป็นภาพแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของกลุ่มผู้ชุมนุมควบคู่กัน ก่อนจะนำพยานหลักฐานทั้งหมดเข้าที่ประชุมคณะทำงาน เพื่อพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันต้องทำคดีให้ครอบคลุม ชัดเจน ไม่ให้มีข้อครหาว่ากลั่นแกล้ง ยืนยันไม่ถูกกดดันจากฝ่ายใด เพียงแต่ทำไปตามกรอบของกฎหมาย
รอง ผบช.น. กล่าวด้วยว่า สำหรับคดีความที่กรมศิลปากร และสำนักงานเขตพระนคร กทม. เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ชนะสงคราม ตามความผิด พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 10 ห้ามไม่ให้ผู้ใดทำลาย ซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือถอน ต่อเติม ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งใด ๆ ภายในพื้นที่โบราณสถาน และข้อหาทำลายทรัพย์สินของทางราชการนั้น บช.น. จะนำมารวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ชุมนุมเดียวกัน และต่อเนื่องกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 กทม. และสำนักงานเขตพระนคร เข้าแจ้งความเอาผิดกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 บริเวณสนามหลวง ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการฝังหมุดคณะราษฎรใหม่ บริเวณสนามหลวงที่ถือเป็นสมบัติของชาติ ขณะเดียวกัน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี แจ้งความเอาผิดแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย (อ่านประกอบ : กรมศิลปากร-กทม. แจ้งความเอาผิดม็อบปักหมุดคณะราษฎรในสนามหลวง)
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้มอบหมายให้กรมศิลปากรแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานทุ่งพระเมรุตั้งแต่ปี 2520 เพราะกรณีที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหาย เป็นความเสื่อมไปของพื้นที่ ซึ่งกฎหมายที่เราใช้คือ มาตรา 10 พ.ร.บ.โบราณสถานปี 2504 มีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ซึ่งเป็นการนำวัตถุอื่นที่ไม่เคยมีอยู่เดิมมาใส่เข้าไป เราแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่าเรื่องนี้เราดำเนินการตามกฎหมาย รัฐบาลไม่ได้ให้นโยบายพิเศษอะไร ทุกกรณีที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานเราก็จะดำเนินการเช่นนี้ ย้ำไม่มีนโยบายพิเศษ สำหรับหมุดที่ถูกถอนออกไปขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เก็บไว้เป็นของกลางในคดี
เมื่อถามว่ามีกระแสในโลกออนไลน์เปรียบเทียบการดำเนินการระหว่างเรื่องหมุดคณะราษฎร 2563 กับหายไปของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่หายไปก่อนหน้านี้ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ นายอิทธิพล กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละห้วงเวลา เรื่องอนุสาวรีย์ฯ กรมศิลปากรก็ได้แจ้งความไว้แล้วที่ สน.บางเขน ยืนยันทุกกรณีกรมศิลปากรจะดำเนินการตามกฎหมาย และมีการรายงานความคืบหน้ามาถึงรัฐมนตรีมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องอนุสาวรีย์ฯยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าเข้ามา
เมื่อถามถึงกรณีหมุดคณะราษฎร 2475 ที่ถูกถอนหายไปก่อนหน้านี้ นายอิทธิพล กล่าวว่า เรื่องดังกล่วตนไม่ทราบ
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.ต.ต.สุคุณ จาก https://thaitabloid.com/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage