ตร.แพร่หนังสือเวียนถึงทุกหน่วยงาน ยืนยัน พนง.สอบสวน มีอำนาจให้ผู้ต้องหา ‘พิมพ์ลายนิ้วมือ’ จำเป็นต้องทำเพื่อให้คดีแจ่มกระจ่างชัด ชี้ประกาศ คปค. ฉ.25 ศาล รธน.ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ เผยปัจจุบัน ป.วิอาญาฯ ม.131 ดำเนินการได้แล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลสมควร มีความผิด
..........................
จากกรณีศาลแขวงนนทบุรี มีคำพิพากษาคดีที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าจำเลยจะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2562 ที่อ้างอิงจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 แต่เป็นการอ้างที่ฟังไม่ขึ้น จึงสั่งลงโทษปรับ 3,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 386 วรรคแรก นั้น (อ่านประกอบ : อ้างคำวินิจฉัยศาล รธน.ฟังไม่ขึ้น! สั่งปรับ 3,000 บาทผู้ต้องหาปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือ, ล้วงคำพิพากษาศาลนนท์! การพิมพ์ลายนิ้วมือสำคัญไฉน-ทำไมผู้ต้องหาปฏิเสธถึงผิด?)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ลงนามในหนังสือเรียนถึง ผบ.ตร. และทุกหน่วยงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ชี้แจงถึงกรณีผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2562 ต่อการปฏิบัติในการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา
สาระสำคัญระบุว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 29 ก.ย. 2549 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 26 และมาตรา 28 วรรคหนึ่งนั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พิจารณาแล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีประเด็นวินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญาของประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิได้มีประเด็นวินิจฉัยในส่วนของการกำหนดให้ผู้ต้องหามีหน้าที่พิมพ์มือขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ประกอบกับปัจจุบันมีกฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน ได้แก่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่บัญญัติให้อำนาจพนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์ที่จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และมาตรา 132 (1) ที่บัญญัติให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือที่ทางอันสามารถ อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้รวมทั้งทำภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาดจำลอง หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลาย ซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น
ทั้งนี้หากผู้ต้องหาขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนโดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง เป็นมาตรการทางกฎหมายอื่น ซึ่งให้อำนาจแก่พนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อยู่แล้ว อันเป็นความผิดลหุโทษที่เหมาะสมกับการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าว ดังนั้น พนักงานสอบสวนยังคงมีอำนาจให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยอาศัยบทบัญญัติตามกฎหมายข้างต้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage