ศาลแขวงนนทบุรี พิพากษาปรับ 3,000 บาท ผู้ต้องหาปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือกับพนักงานสอบสวน ชี้เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ อ้างองค์ประกอบไม่ครบความผิด-คำวินิจฉัยศาล รธน.ฟังไม่ขึ้น จะผิดหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนต่อ มิใช่ต้องยุติคดีทันที
.....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ศาลแขวงนนทบุรี นัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.280/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2738/2563 ระหว่างพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส. ภ.(อักษรย่อ) จำเลย กรณีไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา เบื้องต้น น.ส. ภ. ให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2562 ร.ต.อ.ธนกฤษณ์ ศาลางาม พนักงานสอบสวน สภ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี แจ้งข้อกล่าวหาแก่ น.ส. ภ. (จำเลย) ว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันมีลักษณะลามก และข้อมูลนั้นประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ และเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ ต่อมา ร.ต.อ.ธนกฤษณ์ ให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ
โดยศาลวินิจฉัยว่า คำสั่งของ ร.ต.อ.ธนกฤษณ์ เป็นการสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายและระเบียบไว้ เมื่อจำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายกำหนดไว้ ที่จำเลยอ้างเหตุว่า การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จำเลยไม่สมควรถูกดำเนินคดีดังกล่าวนั้น เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธแล้ว การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ ร.ต.อ.ธนกฤษณ์ ต้องดำเนินการสอบสวนคดีต่อไป จำเลยมีสิทธิเสนอพยานหลักฐานต่อสู้ แต่ไม่ใช่ว่าพนักงานสอบสวนต้องยุติการสอบสวนทันทีตามที่จำเลยแจ้ง
ส่วนที่อ้างว่าการสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญให้ไว้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ต้องหาที่ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่มีความผิดฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่า เพราะเหตุที่พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวบุคคลดังที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ในคำวินิจฉัยที่ 2/2562 นั้นเป็นการวินิจฉัยถึงประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสภาวการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนไปจากช่วงรัฐประหาร ไม่ปรากฏถ้อยคำใดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่ทำให้เข้าใจได้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิอย่างเสรีที่จะปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือได้
การที่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาปฏิเสธไม่ยอมให้พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือโดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิด และจำเลยให้การปฏิเสธ จึงมีสิทธิปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือก็ดี หรือที่จำเลยอ้างว่าจำเลยแจ้งพนักงานสอบสวนให้ทราบถึงสิทธิเสรีภาพตามผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้วก็ดี รวมถึงที่จำเลยยกเหตุอ้างว่า การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นการกระทำลักษณะปฏิปักษ์ต่อตนเองก็ดี ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นข้อหรือเหตุแก้ตัวอันสมควร พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่เจ้าพนักงานสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรและเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 386 วรรคแรก ปรับ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/