ดีเอสไอ ร่วมหลายหน่วยงาน ตรวจสอบโรงโม่หิน 6 แห่ง จ.ยะลา พร้อมตรวจพื้นที่ภาพเขียนสีโบราณสถานเขายะลา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สนธิกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดยะลา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา สำนักงานที่ดินจังหวัดยะลา ปกครองอำเภอเมืองยะลา ทหาร กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สถานีตำรวจภูธรลำใหม่ ศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าตรวจสอบพื้นที่ประกอบกิจการโรงโม่หิน จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย (1) ศิลาอุตสาหกรรม (2) ธนบดีศิลา (3) ศิลาเขาแดง 2563 (4) เจริญทิพย์ (5) สามแยกโรงโม่ (6) อับดุลลาเต๊ะ ยากัส เพื่อตรวจสอบการประกอบกิจการเหมืองแร่บริเวณเทือกเขายะลาในพื้นที่ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รุกล้ำเขตพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรณีดังกล่าว พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งอนุมัติให้ ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นเรื่องสืบสวนที่ 142/2563 ต่อมา เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มอบหมายให้ นายพิเชฎฐ์ ทองศรีนุ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค โดย นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่ประกอบกิจการโรงโม่หิน จำนวน 6 แห่งดังกล่าว พร้อมกับสอบปากคำ สอบถามข้อมูลการประกอบกิจการเบื้องต้นจากผู้ประกอบการ และได้ทำการตรวจวัดพิกัดพื้นที่ พร้อมทั้งเปรียบเทียบหลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศ ณ ปัจจุบัน และภาพถ่ายทางอากาศในห้วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดี โดยคณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนตามแนวทางและประเด็นที่กำหนด ได้แก่ ประเด็นความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 ประกอบด้วยประเด็นมีการทำเหมือง หลังจากประทานบัตรหมดอายุหรือไม่ มีการทำเหมืองนอกเขตพื้นที่เหมืองที่ได้รับอนุญาตหรือที่กำหนดไว้ตามแผนผังท้ายประทานบัตรหรือไม่ ขั้นตอนในการออกประทานบัตรชอบหรือไม่ มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) หรือไม่ การครอบครองแร่ การแต่งแร่ การขนแร่ มีการขออนุญาตถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ มีการชำระค่าภาคหลวงถูกต้องหรือไม่ และประเด็นความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังได้เข้าสอบถามประชาชนในพื้นที่ หมู่ 3 ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา ซึ่งมีชุมชนอยู่ใกล้กับบริเวณประกอบการเหมืองหิน พบว่าเทือกเขายะลาตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลลิดล ตำบลยะลา มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่โดยรอบ ภูเขาดังกล่าวเป็นภูเขาหินปูน มีร่องร่อยของการระเบิดหินภูเขาเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งในด้านทรัพย์สิน สุขภาพอนามัย รวมถึงการดำเนินชีวิต ประกอบกับพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขายะลาได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อันเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าของจังหวัดยะลาด้วย โดยที่ผ่านมา ผลจากการระเบิดหินทำให้บางส่วนของภาพเขียนสีเขายะลาได้รับความเสียหาย พฤติการณ์ของผู้ประกอบการเหมืองหินดังกล่าวเข้าข่ายประกอบกิจการเหมืองหินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รุกล้ำเขตพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต บุกรุกแผ้วถางป่า ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเสียหาย รวมถึงเป็นการทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุ อันเป็นสมบัติของชาติซึ่งควรหวงแหน อันเป็นความผิดต่อหลายบทกฎหมาย และมีลักษณะเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) - (จ) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบร่องรอยภาพเขียนสี บริเวณจุดที่เป็นภาพเขียนสีโบราณฝั่งทางทิศตะวันตกของเขายะลา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของตำบลยะลา อำเภอเมืองยะลา พร้อมกับถ่ายภาพเป็นหลักฐาน และตรวจวัดพิกัดของพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบเป็นพยานหลักฐานอีกครั้ง โดยคณะพนักงานสืบสวนจะได้สรุปพยานหลักฐานทั้งหมดนำเข้าที่ประชุมคณะพนักงานสืบสวน เพื่อพิจารณาเสนอเป็นคดีพิเศษ ทำการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ต่อไป