ศบค.พบป่วยโควิดเพิ่ม 7 รายกลับจากอินเดีย-สหรัฐฯ พร้อมชง ครม.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน 'บิ๊กตู่' ยันยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษคุมสถานการณ์ พร้อมเคาะ 1 ก.ค.เปิดอ่าง-บาร์-คาราโอเกะ ขู่พบติดเชื้อเจอบทลงโทษ 'ปลัด สธ.' แจงคืบหน้าผลิตวัคซีน คาดพร้อมใช้ปลายปีหน้า 30 ล้านโดส
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ว่า วันนี้เป็นห้วงระยะเวลาที่สำคัญที่ต้องทำทุกอย่างให้ดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงหลายประการตามเหตุผลความจำเป็น ส่วนสถิติผู้ติดเชื้อจะมีจำนวนไม่มาก เป็นเพราะมีการดำเนินมาตรการพิเศษจนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้จนถึงจุดนี้
“เรามีกฎหมายกว่า 40 ฉบับที่อยู่ในหลายหน่วยงาน ซึ่งบางอย่างไม่สามารถทำได้ทันที ไม่ว่าจะเปิดหรือปิด หรือแม้แต่การเข้าออกประเทศก็ต้องผ่านขั้นตอนหลายประการ ไม่ทันต่อเวลาในการแก้ไขสถานการณ์ จึงจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ได้หวังปิดกั้นใคร เพราะวันนี้ทีเป็นห่วงที่สุดคือการแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในการผ่อนปรนระยะที่ 5 ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่เหตุผลที่ต้องมีการปลดล็อก เพราะเราต้องเห็นใจผู้มีรายได้น้อย คนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุขไว้รองรับตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่สามารถรับรองได้ว่าจะรับมือสถานการณ์ได้เต็ม 100% หรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมมือกันตรงนี้ถึงจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยวันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย กลับจากประเทศอินเดีย 6 ราย ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ส่วนอีก 1 รายกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา และตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ผู้ป่วยยืนยันสะสม รวม 3,169 ราย หายป่วยแล้ว 3,053 ราย และอยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 58 ราย
ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 163,731 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 10,237,543 ราย รักษาหายแล้ว 5,547,001 ราย และเสียชีวิต 504,075 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 95 ของโลก
นพ.สุขุม กล่าวด้วยว่า ในการผ่อนปรนระยะต่อไปจะมีความเสี่ยง แต่เราต้องการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ จึงได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจทรัพยากรในการรองรับสถานการณ์ อาทิ เตียงผู้ป่วยที่รองรับสถานการณ์ได้วันละ 50-200 คนต่อวัน และเตรียมพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่การมีวัคซีนรักษาโควิดมีความคืบหน้าไปมาก โดยจะเริ่มทดลองวัคซีนในมนุษย์อย่างน้อย 2 ชนิด โดยแบ่งเป็น 3 ระยะจนถึงช่วงต้นปีหน้า และคาดว่าระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.2564 จะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายให้ได้ 30 ล้านโดส และสามารถนำมาใช้ได้ช่วงปลายปี 2564
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณามาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 ตามที่เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เปิดโรงเรียนและสถานศึกษาของรัฐบาล แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด รวมถึงห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินกิจการได้โดยไม่จำกัดเวลา
ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบการการคล้ายสถานบริการ เช่น โรงเบียร์ โรงเหล้า และลานเบียร์ ให้เปิดกิจการได้ แต่ไม่เกินเวลา 24.00 น.ทุกกรณี รวมถึงร้านข้าวต้ม อนุญาตให้ขายสุราได้ไม่เกินเวลา 24.00 น.เช่นกัน ทั้งนี้ให้จำกัดผู้ใช้บริการตามพื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อคน และห้ามร่วมโต๊ะกับกลุ่มอื่น ระยะห่างของโต๊ะ 2 เมตร มีฉากกั้น 1.50 เมตร
ขณะที่ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต ให้เปิดบริการ โดยทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ 4 ตารางเมตรต่อคน จำกัดเวลาใช้บริการ 2 ชั่วโมงต่อรอบ และให้มีการพักทำความสะอาด 15 นาที ส่วนกิจการอาบ อบ นวด และโรงน้ำชา ต้องมีใบอนุญาต บริการถูกกฎหมาย ผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนแอปพลิเคชันไทยชนะ สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำ และให้ทำความสะอาดพื้นผิวบ่อยๆ ตรวจหาเชื้อโรคกลุ่มพนักงานเป็นระยะ พร้อมเฝ้าระวังโรคอื่นด้วย และห้ามค้าประเวณี อาจพิจารณาให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ส่วนรวมของร้าน
"กิจกรรมเหล่านี้หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในพื้นที่ใดต้องมีบทลงโทษ เพราะหากเกิดการติดเชื้อจะมีความสูญเสียตามมาทุกกิจกรรมและกิจการ ซึ่งก่อนได้รับการผ่อนคลายทุกสถานประกอบการจะยอมรับเงื่อนไขต่างๆ เพราะต้องการเปิดกิจการ แต่ต้องพิจารณาในส่วนนี้ เพราะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณามาตรการผ่อนคลายการเข้ามาในราชอาณาจักร โดยกระทรวงการต่างประเทศเสนอการขยายกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทย 6 กลุ่ม คือ 1.คู่สมรสและบุตร ผู้ที่ได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร 2.ผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร 3.คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย
4.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและมีผู้ติดตาม 5.นักเรียน นักศึกษาต่างชาติ และผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว และ 6. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษกับประเทศเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักธุรกิจและมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค โควตาที่กำหนดต้องสอดคล้องกับสถานที่พักที่รัฐกำหนด (ASQ) จำนวนไม่เกิน 200 คนต่อวัน โดยประเทศเป้าหมาย คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งจะพิจารณาผู้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และการจัดทำข้อตกลงดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ผู้เดินทางมาแบบธรรมดา ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน จะต้องอยู่ในสถานที่ที่รัฐกำหนด 14 วัน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง และกลุ่มที่ 2 คือ ผู้เดินทางมาแบบเร่งด่วน กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของไทย เดินทางมาระยะสั้นต่ำกว่า 14 วัน
ที่ประชุมยังพิจารณาหลักเกณฑ์ในการรองรับการเดินทางแขกของรัฐบาล ต้องมาเป็นคณะเล็ก ไม่เกิน 10 คน เดินทางเป็นระยะสั้น และต้องตรวจเชื้อโควิดก่อนเดินทางและเมื่อมาถึงไทย โดยให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพเชิญแขกระดับสูงจัดเจ้าหน้าที่ประจำคณะ และต้องมีสาธารณสุขและฝ่ายความมั่นคงติดตามคณะด้วย ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยยังได้เสนอเปิดด่านเพิ่ม 9 จุดทั่วประเทศจากเดิมเปิดอยู่แล้ว 28 แห่งใน 22 จังหวัด และที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข่าวในโซเชียลมีเดียว่ามีการลักลอบผ่านแดนทางช่องทางธรรมชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage