อนุกรรมการฯพิจารณาเยียวยาเรียกคืน ‘คลื่น 2600 MHz’ แจงหลักคิดวิธีจ่ายเงินเยียวยาให้ ‘อสมท-คู่สัญญา’ ในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ยึดบรรทัดฐานเยียวยาคลื่น 700 MHz ที่เคยเยียวยาทีวีดิจิทัล 70% ของมูลค่าคลื่นที่ประมูลได้ หลังไม่ได้ข้อสรุปเงินลงทุนเอกชน-ตัวเลขการประมูลค่าคลื่น พร้อมระบุเอกชนคู่สัญญามีการ 'ลงทุนจริง' โดยมีเอกสารหลักฐานอยู่ที่ กสทช.
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายเงินค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 MHz เผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org/) ถึงที่มาของการจัดสรรเงินเยียวยา 3,235.83 ล้านบาท ให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญาของ อสมท ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ในสัดส่วน 50 ต่อ 50 โดยยืนยันว่า อสมท ไม่ได้เป็นฝ่ายเสียเปรียบเอกชนแต่อย่างใด
แหล่งข่าวอธิบายว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าคลื่นไม่ใช่ที่ดิน เพราะถ้าเป็นที่ดิน เมื่อมีการเวนคืน ภาครัฐต้องจ่ายเงินชดเชยตามมูลค่าที่ดิน โดยมีราคากลางเป็นตัวกำหนด และถ้าปลูกกล้วย ปลูกบ้านบนที่ดินนั้นๆ ราคาที่ดินก็ยังเป็นราคาเดียวกัน แต่อาจมีมูลค่าเพิ่มในส่วนของบ้านแต่ไม่มากนัก นี่คือลักษณะการเวนคืนเอาที่ดินมาเป็นของรัฐ แต่พอเป็นเรื่องคลื่นจะไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมูลค่าคลื่นจะอยู่ที่ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากคลื่นเป็นหลัก
“ในการเอาคลื่นไปใช้ประโยชน์ คนไหนที่ไม่มีความสามารถ ก็จะใช้คลื่นได้มูลค่าต่ำ จึงเป็นที่มาของการประมูล เพื่อหาคนที่ใช้คลื่นได้ดีที่สุด ให้เอาคลื่นไปใช้ แต่คลื่นไม่ได้มีกรรมสิทธิ์เหมือนที่ดิน เพราะใช้ประโยชน์ได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้น ถ้ารัฐเอาคลื่นจากเขาไปแล้ว เขาจะไม่เหลืออะไรเลย และต้องเลิกธุรกิจไปเลย ต่างจากที่ดินตรงที่ถ้ามีการตัดถนนผ่าน แม้เขาจะเสียที่ดินและได้ค่าชดเชยไป แต่มูลค่าที่ดินของเขา ซึ่งอยู่ 2 ข้างทางจะเพิ่มขึ้นมาก”แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า การพิจารณาจัดสรรเงินชดเชยและเยียวยาคลื่น 2600 MHz ก็เช่นกัน ตามกฎหมายระบุเมื่อภาครัฐเรียกคืนคลื่นมาแล้ว รัฐต้องจ่ายชดเชยในสิ่งที่ได้มีการลงทุนไปทั้งหมด และค่าเสียโอกาสที่ควรได้หากมีการถือครองคลื่นต่อไป เช่น ต้องมีการประเมินว่ามูลค่าคลื่นที่นำไปทำธุรกิจนั้นๆในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าเป็นเท่าไหร่ เมื่อได้ตัวเลขทั้งหมดมาแล้ว จึงจะมีการพิจารณาจัดสรรเงินเยียวยาตรงนั้น
“การเยียวยาค่าคลื่นจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.การชดใช้การลงทุน สมมุติว่ามีการลงทุนไป 1,000 ล้านบาท รัฐต้องจ่ายคืนให้เขา 1,000 ล้านบาท ถ้าเขาลง 100 ล้านบาท รัฐก็จ่าย 100 ล้านบาท และถ้าเขาเอาคลื่นไปใช้ได้อีก 10 ปี สมมุติว่าได้เงินมาอีก 1 หมื่นล้าน ก็เอา 1 หมื่นล้านมาดูว่าจะจ่ายอย่างไร โดยจะมีวิธีการทดสัดส่วน เพื่อเงินที่จ่ายอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเขาใช้ 10 ปีได้ 1 หมื่นล้าน แล้วรัฐต้องเอาเงินไปให้เขา 1 หมื่นล้าน ไม่ใช่” แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีชดเชยค่าคลื่น 2600 MHz นั้น คณะอนุกรรมการฯที่มีตัวแทนจาก 7 หน่วยงาน เห็นพ้องกันว่าการชดใช้เงินให้กับอสมท และเอกชนคู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องการชดใช้ค่าลงทุนก่อน แต่เนื่องจากสัญญาระหว่างอสมท กับเอกชน กำหนดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนฝ่ายเดียว อสมท ไม่ได้ลงทุน ดังนั้น เวลาจะชดใช้ค่าลงทุน ภาครัฐจะต้องชดใช้ค่าลงทุนให้กับเอกชนทั้งหมด
“เอกชนลงทุนฝ่ายเดียวตามสัญญา ถ้าเขาลงทุน 100 ล้านบาท ถ้าเขาลงทุน 1,000 ล้านบาท ก็ต้องจ่าย 1,000 ล้านบาท แต่ปัญหา คือ รายงานของอาจารย์ไม่ได้ตรวจสอบให้รอบคอบว่าเอกชนลงทุนไปเท่าไหร่ เถียงกันในประเด็นว่าเอกชนลงทุนไปเท่าไหร่ยังไม่ยุติเลย ส่วนรายงานของอาจารย์มหาวิทยาลัย 3 แห่งที่เราได้มานั้น ก็ไม่ได้ข้อยุติว่าต้องชดใช้เท่าไหร่ เพราะอาจารย์ (ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยที่กสทช.จ้างศึกษาการชดเชยค่าคลื่น 2600 MHz)ไม่ทำตัวเลขลงทุนมา ส่วนเอกชนก็ร้องเรียนว่าเขาลงทุนมากกว่านี้” แหล่งข่าวระบุ
ดังนั้น เมื่อตัวเลขการจ่ายเงินชดใช้การลงทุนให้กับเอกชนคู่สัญญาของอสมท ที่ลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้ข้อยุติ คณะอนุกรรมการฯจึงไม่สามารถพิจารณาได้ว่าจะชดใช้เงินลงทุนให้เอกชนเท่าไหร่ ขณะที่คณะอนุกรรมการฯมีเวลาพิจารณาเพียง 60 วัน หลังจากได้รับรายงาน ส่วนอาจารย์ที่ควรทำข้อมูลการลงทุนเอกชนมาให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณา แต่กลับไม่ทำตัวเลขตรงนี้มาให้ คณะอนุกรรมการฯจึงเหลือตัวเลขที่พิจารณาได้ คือ พิจารณาค่าเสียโอกาส
แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ในการพิจารณาค่าเสียโอกาส คณะกรรมการฯได้ร่วมกันพิจารณาว่าจะใช้หลักการใดมาใช้พิจารณาค่าเสียโอกาส เพราะความสามารถในการใช้คลื่นของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่การเอาคลื่นคืนมาประเทศได้ประโยชน์ในภาพรวม คนที่ถือคลื่นต้องยอมเสียสละ อย่างนั้นแล้วก็ควรพิจารณาให้ค่าเสียโอกาสเพียงครึ่งหนึ่งของสิ่งที่ธุรกิจคาดว่าจะได้รับได้หรือไม่ เพราะในเมื่อเป็นเรื่องของอนาคตก็ไม่มีใครรู้ว่าจะได้หรือไม่
“ในเรื่องค่าเสียโอกาส ถ้าคุณควรจะได้จากธุรกิจ 100% แต่คุณเอาไปซักครึ่งหนึ่งดีไหม อีกครึ่งอย่าเอาเลย เพราะเป็นเรื่องอนาคต อาจได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่รู้ ควรเอาไปครึ่งหนึ่งของมูลค่าที่ไปคำนวณมา แต่เชื่อหรือไม่ ทางอาจารย์เองก็ไม่ได้คำนวณมูลค่าตรงนี้มาให้ ผมตั้งคำถามถามอาจารย์ อาจารย์ยอมรับว่า ที่ไม่ได้ได้ทำการประเมินมูลค่าที่ถูกเรียกคืนว่าเป็นเท่าไหร่ เพราะเข้าใจผิด ก็เลยไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าการเสียโอกาสเป็นเท่าไหร่ แล้วเรื่องนี้วันหนึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะเข้าไปตรวจว่าจ่ายเงินค่าจ้างไปได้อย่างไร ทั้งๆที่บางเรื่องไม่ได้ทำ” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อคณะอนุกรรมการฯไม่รู้ทั้งตัวเลขการลงทุนของเอกชนคู่สัญญาของอสมท และไม่รู้ว่าตัวเลขค่าเสียโอกาสจากการใช้คลื่น 2600 MHz จะเป็นเท่าใด แต่เนื่องจากมาตรฐานการเยียวยากรณีการเรียกคืนคลื่นในลักษณะนี้เคยมีมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐ และมีตัวอย่างมาแล้วในประเทศไทยเราเอง 1 ครั้ง เราจึงนำมาตรฐานที่เคยใช้ประเทศไทยดังกล่าวมาใช้เป็นหลักการในการจ่ายเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz
“ตอนเยียวยาทีวีดิจิทัล เพราะเขาขาดทุน ตามกฎหมายแล้วจะไปเยียวยาเขาไม่ได้ สำนักงานอัยการสูงสุดปฏิเสธว่าช่วยเขาไม่ได้ จึงออกมาตรา 44 มาช่วย เพราะขาดทุนจริง และขาดทุนทั้งระบบเลย เพราะมีการตั้งราคาที่สูงไป คนไม่รู้ก็แห่มาประมูล ก็ควรไปช่วยเขา แต่เรื่องนี้ไม่มีใครด่าเลย แต่ถ้าเอาเงินหลวงมาช่วยจะมีคนด่าแน่นอน จึงมีการเอาคลื่น 700 MHz ไปประมูลแล้วนำเงินมาเยียวยากัน
ซึ่งเงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 700 MHz นำไปเยียวยาทีวีดิจิทัล 70% หรือเงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 700 MHz 100 บาท ถูกนำไปเยียวยาทีวีดิจิทัล 70 บาท แต่ไม่มีใครว่า และไม่ได้เอาเงินหลวงมา แต่ก็ได้พื้นฐานมาว่าเงิน 70% ที่จ่ายไป เหลือเงินเข้าหลวงนิดเดียวไม่มีใครโวย เราจึงใช้บรรทัดฐานว่า ถ้าเยียวยาคลื่น 2600 MHz ในอัตรา 70% ของเงินค่าคลื่น 2600 MHz ที่ประมูลได้ เราจะโดนด่า เราจึงใช้ตัวเลขแค่ 40% ซึ่งประเทศอื่นก็ประมาณนี้ จะได้ไม่ทะเลาะกัน
และอย่างน้อยเราก็ให้ตัวเลขที่เคยมีการจ่ายไปแล้ว นี่จึงเป็นที่มาของการจ่ายค่าเยียวยา 40% ของมูลค่าคลื่น 2600 MHz และเราก็พิจารณาให้เฉพาะคลื่นที่อสมท ถือครองอยู่เท่านั้น และเงินค่าเยียวยา 40% นั้น คิดจากมูลค่าประมูลคลื่นตั้งต้น ไม่ได้คิดจากราคาสุดท้าย” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เมื่อได้วงเงินค่าเยียวยาคลื่น 2600 MHz ทั้งหมดมาแล้ว ก็ต้องมาคิดต่อว่าจะแบ่งเงินเยียวยาระหว่างอสมท และบริษัทคู่สัญญาอย่างไร เพราะทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่หากแบ่งเงินเยียวยากันตามสัญญา จะพบว่าเมื่อเอกชนเป็นผู้ลงทุนเพียงฝ่ายเดียว ท้ายที่สุดแล้วเอกชนต้องได้เงินเยียวยามากกว่า อสมท เพราะเอกชนรับความเสี่ยงมากกว่า โดยสัญญาลักษณะนี้มีตัวอย่าง เช่น สัมปทานโทรศัพท์มือถือของ CAT (กสท โทรคมนาคม)
“การแบ่งตรงนี้ เราจะเอาสัญญามาแบ่งไม่ได้ เพราะถ้าแบ่งตามสัญญาเอกชนได้ 91% ส่วนอสมท ได้ 9% คนก็ด่าเรา ดังนั้น เพื่อความยุติธรรมจึงให้แบ่งคนละครึ่ง แต่เมื่อแบ่งครึ่งกันแล้ว เอกชนไม่ได้เยอะกว่า อสมท เพราะที่เถียงกันว่าเอกชนลงทุนไปเท่าไหร่แล้วนั้น เราไม่จ่าย และเนื่องจากเอกชนลงทุนมาหลายปี และทำให้คลื่นเกิดมูลค่าขึ้นมา ดังนั้น เมื่อคุณได้ 40% ของค่าคลื่นแล้ว แล้วจะเอาทั้งเงินลงทุน และมูลค่าที่เกิดขึ้นด้วย ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเอกชนได้ 2 เด้ง
ดังนั้น ก็ให้เอกชนเอาไปเด้งเดียว โดยเอามูลค่าคลื่นที่เพิ่มขึ้นมา แล้วเอา 40% ของมูลค่าคลื่นตั้งต้นนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วให้อสมท เอาไป 20% และเอกชนคู่สัญญาเอาไป 20% ส่วนเงินลงทุนที่เอกชนลงทุนไปนั้น ถือว่ากลืนอยู่ใน 40% แล้ว เมื่อทำอย่างนี้ อสมท ก็กำไรเลย เพราะอสมท ไม่ต้องลงทุน แต่เอกชนต้องมาแบกค่าลงทุนที่ลงทุนไปหลายปี ส่วนค่าหักจ่ายลงทุนของเอกชนเป็นเท่าไหร่นั้น ก็ยังไม่ชัดเจน เถียงกันไม่จบ ก็ให้เอาส่วนนี้ไปแล้วพอ เลิก” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวย้ำว่า จะเห็นได้การแบ่งเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ดังกล่าว หน่วยงานรัฐ คือ อสมท ได้ประโยชน์ ส่วนเอกชนต้องกล้ำกลืน เพราะเอกชนรู้ว่าลงทุนไปเท่าไหร่ และก็ไม่สามารถทำธุรกิจนี้ต่อไปได้
“ผมเป็นหน่วยราชการ ผมไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไร เข้ามาทำกัน 7 คน โดนด่าฟรีๆ ระหว่างทางก็โดนด่านั่นนี่ เราทำด้วยความเป็นธรรม แต่ไม่มีใครมาถามเลยว่าทำไมต้องแบ่ง 50 ต่อ 50 และในท้ายที่สุดบอร์ดกสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็นำแนวทางของคณะอนุกรรมการฯไปพิจารณา คือ ให้แบ่งคนละครึ่ง โดยไม่ต้องจ่ายชดใช้ค่าลงทุนให้เอกชน เทียบกับของอาจารย์ที่ให้แบ่งตามสัญญา แล้วถามว่าใครจะโง่เอาตามสัญญา ให้อสมทได้แค่ 9% ก็ต้องเอา 50 ต่อ 50 แต่ก็ยังมาถล่มกัน” แหล่งข่าวกล่าว
เมื่อถามว่าคณะอนุกรรมการฯ และกสทช.ทราบได้อย่างไรว่า เอกชนคู่สัญญาของอสมท มีการลงทุนเท่าไหร่และมีการลงทุนจริงหรือไม่ แหล่งข่าว ตอบว่า เอกชนเสนอตัวเลขและรายการการลงทุนของตนเองเข้ามาให้คณะอนุกรรมการฯ และกสทช.พิจารณา โดยหลักฐานและรายการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ กสทช.
“ในการกำหนดตัวเลขเยียวยา กสทช.แจ้งล่วงหน้ามานานแล้วให้อสมท และเอกชนที่ลงทุนแจ้งตัวเลขค่าใช้จ่ายทั้งหมดส่งให้ กสทช. เขาแจ้งไปตั้งนานแล้ว แล้วเขาก็แจ้งด้วยว่าถ้าเขา (อสมท) สามารถทำธุรกิจต่อไปตลอด 15 ปี รายรับตลอด 15 ปี รวมกันอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท และตัวเลข 5 หมื่นล้านไม่ได้แต่งขึ้นตอนที่มาขอตัวเลขเยียวยา แต่อยู่ในรายงานประจำปีของอสมท ตั้งแต่เริ่มต้นที่ตัดสินในใจทำธุรกิจนี้ ดังนั้น ตัวเลขไม่ได้ตกแต่ง มีตั้งนานแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดตัว บ.เพลย์เวิร์คฯ ได้รับเงินเยียวยาคลื่นจาก 'กสทช.- อสมท' 1.6 พันล.
อาจใช้อำนาจมิชอบ! 'ปาริชาต'ท้วง’เขมทัตต์'ชง กสทช.แบ่งเงิน 1.6 พันล.ให้ ‘เพลย์เวิร์ค’
ยันรักษาผลประโยชน์ อสมท! ‘เขมทัตต์’ แจงปมแบ่งเงินเยียวยาคลื่น 2600 ให้คู่สัญญา
เยียวยาคลื่น 2600! กสทช.จ่ายชดเชย 'อสมท' 3.2 พันล. แบ่ง 'เพลย์เวิร์ค' 50%
‘พล.ต.ท.จตุพล’กก.อสมท ทรัพย์สิน 95 ล.รายได้ 58 ล.-‘พสุ’พ้นปลัดอุตฯเดือนเศษเพิ่ม 14 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/