‘กรมประมง’ ร่อนหนังสือถึง ‘อธิบดีกรมศุลกากร’ ขอทราบข้อมูล หลังสหภาพยุโรป ยกประเด็นมีการนำสัตว์น้ำ 6 ตู้คอนเนอร์ 147.9 ตัน ที่นำเข้าผิดกฎหมายและถูกยึดไว้ไป ‘ปันส่วนขาย’ หวั่นกระทบการแก้ปัญหา IUU Fishing
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.63 ที่ผ่านมา นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร ขอข้อมูลการดำเนินการกับสินค้าสัตว์น้ำจากเรือ WADANI 2 สัญญาติโซมาเลีย หลังจากกรมประมงได้รับข้อมูลว่าตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสัตว์น้ำ จำนวน 6 ตู้ น้ำหนักรวม 147.9 ตัน ถูกนำไปจำหน่ายโดยวิธีขายปันส่วน และที่เหลืออีก 1 ตู้ น้ำหนัก 26.7 ตันถูกนำไปทำลาย
สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุ กรมประมงมีความประสงค์ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากกรมศุลกากรในการดำเนินการกับตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 7 ตู้ โดยละเอียด เพื่อใช้ในการรายงานความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU) ดังนี้
1.รายละเอียดของการจำหน่ายโดยวิธีขายปันส่วนของสัตว์น้ำ จำนวน 6 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้แก่ ข้อมูลรายชื่อผู้ซื้อจำนวนสัตว์น้ำที่ซื้อ ระยะเวลาที่ทำการจำหน่าย รรมทั้งภาพถ่ายในวันที่ทำการจำหน่าย และ2.รายละเอียดของการทำลายสัตว์น้ำ จำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งภาพถ่ายในวันที่ทำการทำลายสัตว์น้ำ
แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงกลางปี 62 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้ทำการจับกุมและยึดตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสัตว์น้ำ 7 ตู้ น้ำหนักรวม 174.60 ตัน ได้แก่ SEGU9133873, DSLU349930 ,TTNU8622272 ,CGMU5289809 ,TRIU8103440 ,TTNU8626808 และMNBU0095993 ซึ่งนำเข้าโดยเรือ WADANI 2 สัญญาติโซมาเลีย เนื่องจากสินค้าสัตว์น้ำดังกล่าวทางกรมประมงไม่ได้ออกใบอนุญาตให้นำเข้าได้
อย่างไรก็ตาม ต่อมากรมประมงได้รับข้อมูลว่าในช่วงเดือนพ.ย.62 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้นำสัตว์น้ำในตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 6 ตู้ จากที่ยึดไว้ทั้งหมด 7 ตู้ ไปขาย แทนที่จะนำไปทำลายทั้งหมด และในการประชุมทางไกล (VDO Conference) ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้หยิบยกประเด็นสินค้าสัตว์น้ำจากเรือ WADANI 2 สัญญาติโซมาเลีย ขึ้นมาหารือด้วย
“หากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรฯนำสัตว์น้ำในตู้คอนเทนเนอร์ 6 ตู้ ไปขายจริงตามที่มีกระแสข่าว ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ได้มีการให้ข้อมูลกับทางอียูไปว่า ได้นำสัตว์น้ำดังกล่าวไปทำลายแล้ว อาจเป็นสาเหตุให้อียูไม่เชื่อถือในข้อมูลของฝ่ายไทย และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปอียูได้” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมประมง กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้กรมประมงอยู่ระหว่างรอข้อมูลจากกรมศุลกากรว่า มีการนำสัตว์น้ำที่ยึดไว้ไปขายจริงหรือไม่ แต่เบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลว่ากรมศุลกากรมีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่กรมศุลกากรมีอยู่ คือ หากมีสินค้าที่ยึดไว้ได้เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว กรมศุลกากรสามารถนำไปขายปันส่วนได้ อย่างไรก็ดี กรมประมงมีหน้าที่ที่ต้องไปชี้แจงกับอียูว่ากระบวนการกฎหมายของไทยเป็นอย่างนี้
“ประเด็นตรงนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับไทยแต่อย่างใด เพราะอียูยังไม่เข้าใจระเบียบของเรา เช่นว่า ของที่ถูกจับแล้วและจะเน่าเสีย ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบของกรมศุลกากรไป” แหล่งข่าวกล่าว
อ่านประกอบ :
ไทยหลุดพ้นแหล่งฟอกปลา IUU ของโลก
ทิศทางและความท้าทายล่าสุดของแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/