อธิบดีกรมประมงสั่งทุกด่านคุมเข้มนำเข้าสัตว์น้ำ มั่นใจผลักดันให้การประมงไทยสู่ประมงโลกมุ่งสู่ความยั่งยืน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าจากปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณความต้องการวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตส่งออก
รวมทั้งความต้องการในการบริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและยังมีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำโดยไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดกระแสการร้องเรียนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไทยที่มีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่าวัตถุดิบที่นำเข้า มีการร้องเรียนของผู้บริโภคถึงความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศว่ามีความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรการที่กำหนดหรือไม่
ทั้งนี้ภายใต้นโยบาย IUU Free THAILAND และ Food Safety ของประเทศไทยที่ได้มีการประกาศและแสดงเจตนารมย์ไว้ เพื่อให้การประมงไทยทั้งจากการจับจากธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมุ่งสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกแล้ว หลักสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างความเป็นธรรมและโปร่งใสทางธุรกิจ ซึ่งจะคุ้มครองผู้ประกอบการในการแข่งขันทางธุรกิจ และผู้บริโภคที่มีสินค้าที่บริโภคได้อย่างปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม
ช่วงที่ผ่านมาได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบการนำเข้าสัตว์น้ำของไทย โดยเริ่มจากสัตว์น้ำที่มีการนำเข้ามาในประเทศไทยทางเรือ โดยใช้ “เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ” เนื่องจากสามารถบรรทุกได้ในปริมาณมากและมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการขนส่งประเภทอื่น ทำให้มีการขนถ่ายในช่องทางนี้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทูน่า” ซึ่งประเทศไทยเป็น “ตลาดนำเข้าทูน่า” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้มาตรการ PSMA กรมประมงได้มีการตรวจสอบสัตว์น้ำที่มากับเรือขนถ่ายทุกลำว่ามีการขนสัตว์น้ำจาก เรือจับลำใด มีการทำประมงในช่วงไหน แหล่งใด ทำการประมงผิดกฎหมายหรือไม่
โดยมีการประสานงานกับรัฐเจ้าของธงรัฐชายฝั่ง หรือ RFMO อย่างใกล้ชิด เพื่อขอ “หลักฐาน” ที่จะสามารถยืนยันความถูกต้องของสัตว์น้ำเหล่านั้น อาทิเช่น ข้อกฎหมาย พิกัดสัญญาน VMS/AIS ใบอนุญาตการจับสัตว์น้ำ ตลอดจนกรมประมงยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นกับองค์กรต่างๆ ที่เฝ้าจับตามการประมง IUU ในน่านน้ำต่างๆ เช่น FFA ที่ดำเนินการอยู่ในมหาสมุทรแปซิกฟิก หรือ Fish-I- Afarica ที่ดูแลในพื้นที่บริเวณชายฝั่งแอฟริกา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสัตว์น้ำที่เข้าสู่ประเทศไทยเป็นสัตว์น้ำที่ปลอดจากการทำประมง IUU
“ผลการดำเนินงานประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจับเรือประมงต่างชาติที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรือ IUU ถึง 5 ลำ และมีการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าประมงที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอที่จะให้เชื่อมั่นได้ว่าไม่ได้มาจากการทำประมง IUU ไปแล้วประมาณ 400 ตัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้รับการยอมรับว่าประเทศไทยมีการปฎิบัติตามพันธกรณี ภายใต้ PSMA ที่ได้มีการลงนามให้สัตยาบันไว้ และทำให้ประเทศไทยหลุดจากข้อกล่าวหาว่าเป็น “แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก” ซึ่งส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง”นายอดิศร กล่าว
นอกจากนี้จากความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการที่ช่วยควบคุมเรือประมง หรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ทั้งประเทศมาเลเชีย เวียดนาม พม่า ที่จะเข้ามาเทียบท่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีทางการควบคุมการทำประมงและส่งผลต่อการเจรจาความร่วมมืออื่นๆ ต่อไปในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามหากยังคงมีการลักลอบและเรายังคงไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจะถูกเพื่อนบ้านประนามได้ว่า “สนับสนุนการประมง IUU” สิ่งเหล่านี้คงเป็นประเด็นที่ต้องฝากให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยกันเฝ้าระวัง
จากมาตรการ PSMA ที่มีผลบังคับใช้ทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ทำให้กลไกในการต่อต้าน IUU มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระแสการนำสัตว์น้ำ IUU ไปในช่องทางอื่นเริ่มมีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีการนำสัตว์น้ำ IUU ไปขึ้นท่าเทียบเรือในประเทศที่มาตรการ PSMA ยังไม่มีประสิทธิภาพ และนำสัตว์น้ำขนถ่ายขึ้นตู้คอนเทนเนอร์และส่งออกทางเรือบรรทุกสินค้า
ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มจับตามองสินค้าประมงที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำที่มาจากประเทศที่ไม่ได้รับความเชื่อถือ ส่งผลให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ประเทศไทยก็ถูกเพ่งเล็งเช่นเดียวกัน