สภาถก 3 พ.ร.ก.สู้โควิดวันที่สอง ฝ่ายค้านยืนยันขอตั้ง กมธ.ตรวจทุกขั้นตอน 'ก้าวไกล' กางตำราหมอสอนสูตรเพิ่มศักยภาพสาธารณสุข ติงเขียนขอเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทแต่มีรายละเอียดแค่ 5 บรรทัด ด้าน 'รังสิมา' เตือนคุมเข้มใช้เงิน ห่วงตัวเขมือบงบโผล่ 'อนุทิน' โวไทยชนะแน่ถ้าใช้เงินผลิตวัคซีนได้สำเร็จ 'บิ๊กตู่' ยันใช้เงินดูแลทุกคน ย้ำจะไม่ให้รั่วไหล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สอง ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
โดยนอกจากการย้ำให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้า ตลอดทั้งวันนี้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการอภิปรายเรื่องงบเงินกู้ด้านสาธารณสุข ที่ถูกจัดสรรไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท
รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการอนุมัติซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
@ 2 หมอฝ่ายค้าน จี้เพิ่มงบเงินกู้ สธ.เป็น 1 แสนล้าน
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลใช้นโยบายที่ผิดพลาดในการบริหารสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด โดยเฉพาะการปล่อยให้มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ตั้งแต่สนามมวยลุมพินี และอาจจะหละหลวมในช่วงแรกไม่ได้คัดกรองนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ และปล่อยให้ประเทศประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งหมดให้เกิดการลุกลามของโรค จนกระทั่งมีปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ
ส่วนการกู้เงินของรัฐบาลก็ขาดยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทที่จะใช้ด้านสาธารณสุข ควรจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนวันนี้ ว่าจะเน้นเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโรค หรือสร้างจุดเด่นด้านโรงพยาบาล ขณะเดียวกันทราบว่าเพิ่งจะมีการสอบถามไปยังผู้บริหารที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ว่าต้องการและขาดเหลืออะไร ซึ่งการดำเนินการแบบนี้เหมือนทำให้เป็นเบี้ยหัวแตก และวันนี้ควรเน้นเรื่องสาธารณสุข เพื่อใช้สิ่งนี้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยต่อไปได้
“ในการที่เราจะทำเงินก้อนใหญ่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ควรทำให้ไทยของเรามีภาพพจน์เหมือนห้องปลอดเชื้อ ใครมาเมืองไทยไม่ต้องกลัวว่าจะติดเชื้อ หรือติดเชื้อจะได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพ ทำให้คนปลอดภัย เช่นเดียวกับนักลงทุนก็อยากจะเข้ามา เพราะประเทศมีความปลอดภัย” นพ.สุรวิทย์ กล่าว
ขณะที่ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า การตั้งงบเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในด้านสาธารณสุข ถือว่เป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่กลับไม่มีการเขียนรายละเอียดไว้ใน พ.ร.ก. และระบุเนื้อหาไว้กว้างๆ ว่า ใช้เป็นค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย การจัดหาเวชภัณฑ์ ขณะที่เรื่องวัคซีน เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในรายละเอียดดังกล่าว จึงเป็นห่วงว่า การใช้เงินส่วนนี้จะไม่มีประสิทธิภาพ
“เงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท เทียบเท่างบลงทุนของกระทรวงสาธารณสุข 4 ปี หรือเท่ากับพี่ตูนวิ่ง 35 รอบ แต่เทียบกับวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เท่ากับแค่ 4.5% ที่เอามาใช้กับด้านสาธารณสุข ผมก็เป็นห่วงว่าวงเงินแค่นี้จะพอใช้หรือไม่ แต่ปรากฏว่าเขียนรายละเอียดไว้แค่ 5 บรรทัดเท่านั้น” นพ.เอกภพ กล่าว
นพ.เอกภพ กล่าวอีกว่า ทุกคนทราบดีว่ากว่าจะค้นวัคซีนเร็วสุดใช้เวลา 1 ปี แต่เราไม่สามารถปิดเมือง 1 ปีเพื่อรอให้เรื่องจบ เพราะทุกคนจะอดตาย ดังนั้นรัฐบาลต้องวางแผนเปิดเมืองให้เศรษฐกิจเดินหน้า ที่ต้องทำควบคู่กับการเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ จึงเสนอให้มีการปรับวงเงินกู้เพื่อใช้ด้านสาธารณสุขเป็น 1 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมเงินไว้ใช้สำหรับวัคซีน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 4 หมื่นล้านบาทให้นำไปใช้ในการจัดอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อไป
@'รังสิมา'ห่วงตัวเขมือบโผล่งาบงบเงินกู้
นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต้องชื่นชมที่ทุกคนช่วยกันทำงานจนทำให้โรคไม่กระจายไปมากกว่านี้ ส่วนการให้โบนัสกับ อสม. ถือเป็นเรื่องดี ทำให้คนมีกำลังใจ ขณะเดียวกันก็แสดงความห่วงการใช้เงินกู้ ที่ควรจะพิจารณาใช้กับสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุด
“ดิฉันเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.เงินกู้ แต่ไม่เห็นด้วยกับตัวเขมือบโครงการ มันมีทุกที่ เหตุการณ์แบบนี้ มีการซื้อของแพง เอาวิกฤติไปเป็นโอกาสของนักการเมืองขี้โกง อยากให้เรื่องนี้หมดไปจากประเทศไทย ภาวนาก็แล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ทำงานช้ามาก ไม่ทันใจ ดิฉันมองว่าเงินกู้มหาศาล และจะมีตัวเขมือบเข้ามาเยอะ” นางสาวรังสิมา กล่าว
@ ‘อนุทิน’ ขอใช้งบผลิตวัคซีน-แจกโบนัส อสม.
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า เวลานี้ไทยมีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เรามีห้องไอซียู ห้องแยกผู้ป่วยโควิดไว้รองรับทุกจังหวัด และยังมีศักยภาพตั้ง รพ.สนามได้ภายใน 24 ชั่วโมง และมั่นใจว่า จะไม่เกิดการระบาดระลอกสอง แต่เราจะไม่ประมาท หากเกิดการระบาดอีก กระทรวงสาธารณสุขก็มีความพร้อมในการดูแลผู้ที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า การจัดสรรเงินกู้จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทจะถูกนำไปใช้ในด้านสาธารณสุข จะถูกนำไปจ่ายค่าป่วยการให้กับ อสม. ที่มีอยู่ 1.05 ล้านคน และถือเป็นด่านหน้าในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรค ส่วนที่เหลือจะนำไปกระจายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพราะถ้าไทยผลิตวัคซีนได้สำเร็จ ไทยจะกลายเป็นแชมป์ด้านสาธารณสุขทันที
“เรายังไม่ชนะน็อกเอาท์ แต่คะแนนนำอยู่ ผมจะนำเงินไปกระจายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เราต้องมีวัคซีนให้ได้ วันนี้ไทยเหลืออย่างเดียวจะเป็นแชมป์ด้านสาธารณสุข คือต้องมีวัคซีนให้ได้ ส่วนที่เหลือเรากวาดมาหมดแล้ว เงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท ผมจะประชุมด้วยตัวเอง เงินทุกบาทห้ามใช้แล้วทิ้ง แต่ต้องพัฒนาให้เกิดความรู้หรือเกิดเครื่องมือแพทย์” นายอนุทิน กล่าว
@ แจง พ.ร.ก.อุ้มเอสเอ็มอี ยันรายเล็กก็ได้ประโยชน์
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะทราบดีว่าเป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดการสร้างงาน และเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบในหลักการให้กำหนดมาตรการดูแลคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะส่วนที่เข้าไม่ถึงเสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
“เราพบว่ามีกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีประสบการณ์การกู้เงิน หรือเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความเข้มแข็งทางด้านเงินทุนจำนวนหนึ่ง ทำให้ไม่ได้รับสินเชื่อ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการให้เข้าถึงผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดก่อนว่าจะทำอย่างไร อาจเป็นรูปแบบของกองทุน เพื่อส่งเสริมให้เขาเข้าถึงแหล่งทุนได้” นายอุตตม กล่าว
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่มีวงเงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการบริหารสภาพคล่องของ ธปท. ไม่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินแต่อย่างใด โดยที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ 3.5 หมื่นราย วงเงินรวม 5.8 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้มีผู้ประกอบการรายเล็ก 51% และเป็นลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงค่อนข้างสูงกวา 70%
“วงเงินส่วนนี้ไม่ถือว่าเป็นเงินกู้ ไม่เป็นหนี้สาธารณะ และเมื่อครบกำหนด 2 ปี สถาบันการเงินก็นำเงินที่กู้ไปมาคืน ดังนั้นไม่ถือว่าเป็นภาระภาษีในอนาคตด้วย” นายวิรไท กล่าว
@’บิ๊กตู่’ยันรัฐบาลดูแลทุกคน ย้ำคุมเข้มไม่ให้รั่วไหล
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ถ้าตนมีเงินเพียงพอก็จะช่วยเหลือให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาทที่จัดสรรไว้ใช้ในด้านสาธารณสุข จนถึงวันนี้แทบจะยังไม่มีการใช้เงินส่วนนี้ เพราะเตรียมไว้ใช้รองรับกรณีที่มีสถานการณ์โรคยืดยาวต่อไป
“ประเทศไทยทำได้ดีอย่างนี้ ต่างระเทศชื่นชมอย่างนี้ แต่คนไทยลำบาก ผมทราบ ท่านลำบาก ผมไม่สบายใจยิ่งกว่าท่าน เพราะถือว่าต้องรับผิดชอบเขา แต่จะดูแลเขาอย่างไรใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมอย่างไร เรื่องสิทธิประโยชน์เจ้าหน้าที่เขาจ่ายไปหมดแล้ว ต้องเข้าใจระบบริหารงบประมาณ รัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้หรอกครับ ไม่ปล่อยให้ใครไม่ไดเงินหรอกครับ ขอให้ไปดูว่าใครไปโกงหรือไม่ แต่ยังไม่มีหรอกตอนนี้ เพราะได้ย้ำหมดแล้ว ขอให้สบายใจว่ารัฐบาลต้องดูแลอยู่แล้ว ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ ส.ส.ได้ฟังคำชี้แจงจาก รมว.คลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย คงได้ยินแล้วว่าการใช้เงินกู้มีหลักการ มีเหตุมีผล ซึ่งหลังจากใช้เงินกู้ไปแล้ว ก็ยังมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และ 2564 ที่จะส่งต่อถึงกันด้วย
ข่าวประกอบ :
คะแนนนำ แต่ยังไม่น็อก! 'อนุทิน' ขอใช้เงินกู้ 4.5 หมื่นล้านสร้างวัคซีน-ตอบแทน อสม.
ใช้แล้ว 5.8 หมื่นล้าน ช่วย 3.5 หมื่นราย! 'คลัง-แบงก์ชาติ' ร่วมแจง พ.ร.ก.อุ้มเอสเอ็มอี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/