“...วงเงินส่วนนี้ไม่ถือว่าเป็นเงินกู้ ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ และเมื่อครบกำหนด 2 ปี สถาบันการเงินก็นำเงินที่กู้ไปมาคืน ดังนั้นไม่ถือว่าเป็นภาระภาษีในอนาคตด้วย...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2563 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะต้องประคับประคองให้ทุกคนผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ กระทรวงการคลังจึงได้ทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อหามาตรการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ค. จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กำหนดมาตรการดูแลกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์
“เราพบว่ามีกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีประสบการณ์การกู้เงิน หรือเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความเข้มแข็งทางด้านเงินทุนจำนวนหนึ่ง ทำให้ไม่ได้รับสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องมีมาตรการให้เข้าถึงผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดก่อนว่าจะทำอย่างไร อาจเป็นรูปแบบของกองทุน เพื่อส่งเสริมให้เขาเข้าถึงแหล่งทุนได้” นายอุตตม กล่าว
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราตระหนักดีว่าปัญหาการขาดสภาพคล่องเป็นเรื่องใหญ่ของผู้ประกอบการ นอกเหนือจากซอฟท์โลนแล้ว เรายังได้ดูแลผู้ประกอบการใน 4 ด้าน ดังนี้
1.คณะกรรมการนโยบายการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งจนเหลือ 0.5% ส่งผลให้ธนาคารลดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดในรอบ 17 ปี และลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี
2.เลื่อนและลดภาระการชำระหนี้ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอี ครอบคลุมการช่วยเหลือผู้ประกอบการ 1.1 ล้านราย ยอดเงินรวม 2.1 ล้านล้านบาท
3.ให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากหลายมาตรการ มีลูกหนี้ได้รับสินเชื่อรวม 8.4 หมื่นราย ยอดเงินรวม 148 ล้านบาท
4.ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย
ทั้งนี้เมื่อดูเฉพาะ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขณะนี้มีความคืบหน้าในการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ 3.5 หมื่นราย วงเงินรวม 5.8 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 1.65 ล้านบาท ในส่วนนี้มีผู้ประกอบการรายเล็ก 51% และเป็นลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงค่อนข้างสูงกวา 70%
นายวิรไท กล่าวด้วยว่า กรณีที่ ส.ส.ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก.ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาทเป็นการกู้เงิน ธปท.ขอเรียนว่าเรามีมาตรการในการบริหารสภาพคล่องอยู่แล้ว เพียงแต่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการจัดสรรสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้นมา
“วงเงินส่วนนี้ไม่ถือว่าเป็นเงินกู้ ไม่เป็นหนี้สาธารณะ และเมื่อครบกำหนด 2 ปี สถาบันการเงินก็นำเงินที่กู้ไปมาคืน ดังนั้นไม่ถือว่าเป็นภาระภาษีในอนาคตด้วย” นายวิรไท กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/