ศบค.เเถลงมีผู้ติดโควิด-19 เพิ่ม 3 ราย ทั้งหมดกลับจากต่างประเทศ อยู่ในวัยเเรงงาน ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม
วันที่ 26 พ.ค. 2563 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ว่ามีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 3 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,045 ราย รักษาป่วยเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมรักษาป่วย 2,929 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม เท่ากับมีผู้เสียชีวิต 57 คนเท่าเดิม เเละพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 59 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยยืนยันสะสมรายใหม่ทั้ง 3 ราย พบว่า เป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเเละเข้าสู่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ โดยรายเเรกเป็นหญิงไทย อายุ 51 ปี อาชีพพนักงานนวด กลับจากประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 12 พ.ค. เเละเข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ จ.ชลบุรี เเละตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 25 พ.ค. เเละไม่เเสดงอาการ ส่วนอีกสองรายเป็นชายไทย อายุ 45 ปี กลับจากประเทศคูเวต เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เเละเข้าสู่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ จ.สมุทรปราการ โดยทั้งสองรายมีอาการไอ เเละตรวจพบเชื้อ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.
"ผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย พบเป็นวัยเเรงงานเเละมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย ซึ่งเรากังวลใจ อย่างไรก็ตาม ระบบยังดูเเลได้ดี เเม้จะมีอาการไม่มาก การได้เข้าสู่ในพื้นที่กักกันไว้เเละได้รับการตรวจเป็นระยะบ่งบอกถึงกระบวนการขั้นตอนที่จำเป็น"
โฆษกศบค. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ไทยเข้าสู่มาตรการการผ่อนคลายระยะที่สาม ซึ่งคาดว่ากิจกรรม/กิจการผ่อนคลายที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง-สูง จะได้รับอนุญาตให้เริ่มต้นทำ เเต่สิ่งสำคัญที่สุด เเม้จะเป็นกิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยงอย่างไรก็ตาม เเต่อย่าลืมมาตรการหลัก ได้เเก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ การไม่อยู่ในสถานที่เเออัด เพื่อจะไม่มีการเกิดโรคภัย
ส่วนการนำคนไทยกลับประเทศ นายเเพทย์ทวีศิลป์ ระบุวันที่ 26 พ.ค. มี 4 เที่ยวบิน ได้เเก่ จากประเทศอิตาลี 37 คน เที่ยวบิน TG8083 สุวรรณภูมิ เวลา 07.35 น., ประเทศมาเลเซีย 149 คน เที่ยวบิน WE8104 สุวรรณภูมิ 13.40 น., ประเทศญี่ปุ่น 35 คน เที่ยวบิน JL031 สุวรรณภูมิ 15.40 น. เเละไต้หวัน 165 คน เที่ยวบิน WE8095 สุวรรณภูมิ 17.05 น. เเละในวันที่ 27 พ.ค. อีก 4 เที่ยวบิน จาก 4 ประเทศ รวม 401 คน
พร้อมกันนี้ยังระบุถึงเหตุผลที่ยังไม่สามารถยกเลิกการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตปกติ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเเล้วนั้น ว่าหากใช้เพียงพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ไม่สามารถทำได้ เมื่อต้องควบคุมหน่วยงานนอกเหนือกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น การประชุมสั่งการโดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ไม่ดี เเต่เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้กฎหมายโรคติดต่อเป็นเเค่หนึ่งในนั้น เพราะต้องนำกฎหมายฉบับอื่นมารวม 40 ฉบับ ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/