‘สภาพัฒน์’ แจงวงเงินกู้ 4 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก-กระตุ้นการบริโภคในประเทศ ‘ทศพร’ ผุดไอเดียชวนคนไทยเที่ยวประเทศไทยหลังสถานการณ์โควิด จัดแพคเกจแจกส่วนลดค่าที่พัก 50-60%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศกรอบวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า สศช.ได้เชิญส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดการใช้เงินกู้ เพื่อให้ส่วนราชการเริ่มนำเสนอโครงการและคำขอใช้งบประมาณส่วนนี้ภายในวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งจะต้องเป็นโครงการระยะสั้นทำเสร็จภายใน 1 ปี โดยหลักการแล้วเงินส่วนนี้จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ที่นำจุดแข็งที่มีอยู่ของไทยมาพัฒนาต่อยอด โดยมีวัตประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามกรอบที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. รวมทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้
1.แผนงานพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ภาคการเกษตรเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับโครงการประกันรายได้ผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนั้นการดำเนินโครงการยังรวมถึงภาคอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวและบริการ ที่จะมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ จากนั้นในระยะต่อไปจะมีการนำเข้านักท่องเที่ยวในลักษณะตกลงกับบางประเทศเพื่อชักชวนบุคคลระดับซีอีโอขึ้นไปมาท่องเที่ยว ทั้งนี้จะต้องมีการวางแผนเรื่องความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ด้วย
2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ต้องทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในพื้นที่ รวมถึงรองรับบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งส่วนนี้คาดว่าจะมีงบประมาณลงไปเกือบ 50% จากวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้จะเน้นพัฒนาท้องถิ่น โดยนำจุดแข็งแต่ละพื้นที่มาต่อยอด เช่น พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
3.แผนงานกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ในระยะแรกเราอาจจะมุ่งเน้นที่โครงการไทยเที่ยวไทย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น การจัดทำแพคเกจการท่องเที่ยว หรือแจกส่วนลดค่าที่พัก 50-60% เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มคนที่มีรายได้นำเงินออกไปใช้จ่ายในระบบ
4.แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่จะมุ่งเน้นไปที่การทำเรื่องแหล่งน้ำหรือระบบดิจิทัล เพื่อรองรับภาคการเกษตรและการขายสินค้าของชุมชน ไม่ใช่เรื่องของการสร้างสนามบินหรือถนน
นายทศพร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจมีปัญหาทุกตัว ทำให้เราเหลือทางเลือกเดียวคือการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐและมาตรการทางภาษี ซึ่งจะเป็นการดำเนินการลักษณะเดียวกันกับญี่ปุ่นที่เตรียมจะใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเช่นกัน ส่วนรูปแบบไทย คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 หรือตั้งแต่ ก.ค.เป็นต้นไป ส่วนในภาพรวมโครงการตามกรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท รัฐบาลต้องการให้เงินส่วนนี้ลงสู่ระบบในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. จากนั้นจะมีวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่จะเข้ามากระตุ้นอีกระลอกหนึ่งด้วย
“โครงการที่จะเข้ามาอยู่ในกรอบวงเงินกู้นี้จะเป็นโครงการขนาดเล็ก ทำเสร็จใน 1 ปี เพราะเราต้องการเร่งให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ทันที” นายทศพร กล่าว
เมื่อถามว่า ส.ส.ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าวงเงินส่วนนี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน เพราะยังไม่มีแผนงานโครงการแต่มีการตั้งวงเงินรอไว้ก่อนเสมือนตีเช็คเปล่า นายทศพร กล่าวว่า กระทรวงการคลังที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เขาได้วางกรอบนโยบายตามบัญชีแนบท้ายในกฎหมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พูดคุยกันแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องนำเงินส่วนนี้มาใช้ทั้งหมด โดยย้ำให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่มี สศช.เป็นประธาน คัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญและเหมาะสมเท่านั้น
ส่วนกรณีสภาอาจมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาการใช้จ่ายวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท นายทศพร ยืนยันว่า ถือเป็นความรอบคอบของสภาที่จะเข้ามาช่วยดูรายละเอียด และ สศช.เห็นว่าเป็นประโยชน์ที่จะมีคนคอยตรวจสอบและให้ความเห็นในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage