‘ศรีสุวรรณ’ ปูดอีก กฟผ.จัดซื้อเครื่องตรวจสอบแก๊ส 1.1 ล้าน-เครื่องวัดความชื้นแก๊ส 6.3 แสน จากจีน กังขาราคาอาจแพงเกินจริง ชี้ช่อง สตง.ลุยสอบต่อ
จากกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาเปิดประเด็นเกี่ยวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดซื้ออุปกรณ์ในโครงการ Supply and Construction of 500/230 kv (GIS) โดยมีราคาต่อหนึ่งคัน 152,959.21 บาท ต่อมา นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. ในฐานะรองโฆษก กฟผ. ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ว่า อุปกรณ์ดังกล่าวคือ ชุดอุปกรณ์เติมแก๊สฉนวนไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ (SF6 Gas Filling Cart Set) ที่ใช้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่ระดับแรงดันไฟฟ้า 500,000 โวลต์ ของ กฟผ. ประกอบด้วยอุปกรณ์ 5 อย่าง และจัดซื้อจากญี่ปุ่น ราคาชุดละ 152,000 บาท ไม่ใช่แค่รถเข็นเพียงอย่างเดียวนั้น (อ่านประกอบ : รองผู้ว่าฯ กฟผ.แจงรถเข็น 1.5 แสนเป็นอุปกรณ์เติมแก๊สฉนวนไฟฟ้า-ได้มาตรฐานจากญี่ปุ่น)
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยอีกว่า ล่าสุดสมาคมฯยังพบว่า กฟผ. มีการจัดซื้อจัดหาเครื่องตรวจสอบแก๊ส หรือ Gas decomposition tester จากประเทศจีนในราคาสูงถึงเครื่องละ 1,121,379.20 บาท ในขณะที่เครื่องดังกล่าวที่มีคุณลักษณะเดียวกันผลิตขายในญี่ปุ่นราคาเพียงเครื่องละ 380,869.02 บาทเท่านั้น แต่ว่า กฟผ.กลับเลือกใช้เครื่องดังกล่าวจากประเทศจีน และเมื่อตรวจสอบราคามาตรฐานที่มีการซื้อขายกันโดยทั่วไปในเวปไซต์ Alibaba ปรากฏว่ามีราคาซื้อขายเพียงเครื่องละ 6,600 -13,100 ดอลล่าห์สหรัฐหรือประมาณ 2 แสน – 4 แสนบาทเท่านั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อจัดหาเครื่องวัดความชื้นแก๊ส หรือ Moisture content measuring device จากประเทศจีนในราคาสูงถึงเครื่องละ 630,775.80 บาท ในขณะที่เครื่องดังกล่าวที่มีคุณลักษณะเดียวกันผลิตขายในญี่ปุ่นราคาเพียงเครื่องละ 291,252.78 บาทเท่านั้น แต่กฟผ.กลับเลือกใช้เครื่องดังกล่าวจากประเทศจีน เมื่อตรวจสอบราคามาตรฐานที่มีการซื้อขายกันโดยทั่วไปในเวปไซด์ Alibaba ปรากฏว่ามีราคาซื้อขายเพียงเครื่องละ 1,000 – 4,999 ดอลล่าห์สหรัฐหรือประมาณ 3.2 หมื่น – 1.6 แสนบาทเท่านั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ยังมีครุภัณฑ์ที่ กฟผ. จัดซื้อจัดหามาใช้ในสถานีไฟฟ้าต่าง ๆ อีกเกือบ 20 รายการ ที่มีราคาแตกต่างจากมาตรฐานราคาที่มีการซื้อขายกันโดยทั่วไป ซึ่งเป็นข้อมูลที่สมาคมฯได้จัดส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว โดย กฟผ.จะต้องไปตอบคำถามกับ สตง. และอธิบายกับสังคมให้ได้ว่า การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ที่มีราคาแพง ๆ มาใช้ในกิจการการผลิตไฟฟ้าฟ้าเป็นวัตถุประสงค์หลักขององค์กรหรือไม่ และเมื่อซื้อมาแล้วจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนทุกครัวเรือนต้องร่วมกันจ่ายนั้น ถูกลงกว่าการซื้อของที่ราคาถูกกว่าใช่หรือไม่
“สมาคมฯขอฝากข้อมูลดังกล่าวไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย หรือ Anti-Fack News Center Thailand ด้วยว่า หากจะแก้ข่าว เพื่อมาดิสเครดิตตนหรือสมาคมฯว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ก็ควรไปถามคนใกล้ชิดผู้บริหารของ กฟผ.ดูว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ สมาคมฯจะได้นำหลักฐานมาพิสูจน์เพิ่มกันให้เห็นแจ้งไปเลยว่าใครเฟคกันแน่” นายศรีสุวรรณ กล่าว
อ่านประกอบ :
รองผู้ว่าฯ กฟผ.แจงรถเข็น 1.5 แสนเป็นอุปกรณ์เติมแก๊สฉนวนไฟฟ้า-ได้มาตรฐานจากญี่ปุ่น
โชว์เอกสาร กฟผ.ซื้อรถเข็นคันละ1.5 แสน? รองผู้ว่าฯ แจงข้อมูลเก่าปี54 ถ้ามีจริงไม่น่าอยู่ได้
‘ศรีสุวรรณ’โชว์หลักฐาน‘รถเข็น’ใช้ในโครงการ กฟผ.คันละ 1.5 แสน-บี้ สตง.สอบ
‘ศรีสุวรรณ’โชว์หลักฐาน‘รถเข็น’ใช้ในโครงการ กฟผ.คันละ 1.5 แสน-บี้ สตง.สอบ
ก่อนดราม่าค่าไฟแพง? 3 รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฯปี 62 รายได้ 6.8 แสนล.-นำส่งรัฐ 3.5 หมื่นล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage