‘รมว.คลัง’ ลงนามตั้ง ‘รพี สุจริตกุล-ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ-อายุสม์ กฤษณามระ’ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนรักษาสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ฯ ขณะที่ธปท.เปิดแนวทางใช้เงินกองทุน BSF ลงทุนหุ้นกู้เอกชน ย้ำลงทุนบริษัทที่ดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ลงนามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 897/2563 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ระบุว่า
โดยที่พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเหศ พ.ศ.2563 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ จำนวนไม่เกิน 3 คน โดยคำแนะนำของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน ด้านตลาดตราสารหนี้ หรือด้านกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุมิในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ดังนี้
1.นายรพี สุจริตกุล
2.นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ
3.นายอายุสม์ กฤษณามระ
สำหรับนายรพี เป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) และเพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562 ส่วนนางผ่องเพ็ญ เป็นอดีตรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ส่วนนายอายุสม์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารความเสี่ยงและเลขานุการ บมจ.ธนาคารกรุงเทพปัจจุบัน และปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงนามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ท 103 /2563 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลงทุน โดยแต่งตั้งให้นายชนันต์ ชาญชัยณรงค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านตลาดทุน และแต่งตั้งให้นายบัณฑิต อนันตมงคล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร
ด้านน.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงในงาน ‘Media Briefing’ เรื่อง แนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุน BSF วันนี้ (29 เม.ย.) ว่า พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ได้กำหนดแนวทางการลงทุนของกองทุนฯ ดังนี้
สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุน BSF จะลงทุนได้นั้น ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน นอกจากนั้น ต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade เช่นเดียวกัน อีกทั้งบริษัทดังกล่าวต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เป็นต้น
ส่วนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน ด้วยต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF ที่สูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
นอกจากนี้ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลที่ดี
สำหรับบริษัทที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF สามารถยื่นขอต่อเลขานุการคณะกรรมการลงทุน โดยระบุเหตุผลความจำเป็นในการขอรับความช่วยเหลือ พร้อมเอกสารตามที่กำหนดก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน
"ขอเรียนว่าการจัดตั้งกองทุน BSF ดังกล่าว เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น เปรียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้มี last resort ในการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยไม่ได้ช่วยทั้งหมดหรือช่วยทุกรายที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ถ้ามีคนมาใช้น้อยก็จะยิ่งดี เพราะหมายความว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ" น.ส.วชิรากล่าว
วชิรา อารมย์ดี
นอกจากนี้ ธปท.ยังเผยแพร่คำถามและคำตอบสื่อมวลชนเรื่องกองทุน BSF ดังนี้
ถาม : ถ้าหุ้นกู้จะครบดีลเดือน มิ.ย. หากไม่มั่นใจว่าจะ Rollover ได้หมด ผู้ออกหุ้นกู้ควรออกแน่เนิ่นๆ หรือไม่ เพราะดูเหมือนกระบวนการขอให้ BSF รับซื้อ ต้องใช้เวลา
ตอบ : การออกหุ้นกู้เพื่อ rollover แต่เนิ่นๆ ถือเป็นสิ่งที่บริษัทควรปฏิบัติในการบริหารสภาพคล่อง อย่างไรก็ดีการดำเนินการดังกล่าวมีต้นทุนต่อบริษัทหากออกล่วงหน้านานเกินไป
กองทุน BSF ให้ความยืดหยุ่นแก่บริษัทที่จะมาขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน โดยในวันที่มาขอรับความช่วยเหลือ บริษัทสามารถยื่นเพียงประมาณการหุ้นกู้ที่จะออกใหม่ที่ประเมินว่าจะออกขายได้จริง มาเพื่อประกอบการพิจารณาของกองทุน BSF (บริษัทจะต้องยื่นขอรับความช่วยเหลือต่อกองทุนไม่น้อยกว่า 45 วันก่อนหุ้นกู้เดิมครบกำหนด) อย่างไรก็ตาม แม้กองทุน BSF อนุมัติให้ความช่วยเหลือแล้ว แต่บริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ตามที่ประเมินไว้ กองทุน BSF อาจพิจารณาทบทวนการให้ความช่วยเหลือ
ถาม : สถานการณ์การซื้อ-ขายหุ้นกู้ตอนนี้เป็นอย่างไร การขายลดลงหรือเพิ่มขึ้น ความมั่นใจของนักลงทุนเป็นอย่างไร
ตอบ : สถานการณ์การออกตราสารหนี้ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมาถือว่ายังมีระดับใกล้เคียงกับในเดือนก่อนๆ แต่ผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มี credit rating อยู่ในกลุ่ม A- ขึ้นไป ขณะที่กลุ่ม credit rating BBB+ ลงมามีการออกตราสารหนี้ลดลง เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมีความกังวลในฐานะการดำเนินงานของบางบริษัท ทำให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนได้เต็มจำนวน อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการประกาศมาตรการกองทุน BSF นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสะท้อนจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ซื้อขายในตลาดรองมีความผันผวนลดลง
ถาม : ธปท. ประเมินว่าอย่างน้อยเมื่อกองเปิด คาดจะใช้เงินเท่าไหร่ในการเข้าไปดูแลในช่วงระยะสั้นเช่น 1 เดือนนี้
ตอบ : แม้ว่าขนาดของกองทุนที่ตั้งไว้จะมีขนาด 400,000 ล้านบาท แต่ในเบื้องต้นคาดว่าความต้องการใช้เงินกองทุนจะไม่ได้สูงมาก เนื่องจากหลายบริษัทยังสามารถระดมทุนได้เอง ซึ่งหากระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ได้ไม่ครบทั้งจำนวน หลายบริษัทก็ยังมีช่องทางในการกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ กองทุน BSF จึงน่าจะเป็นช่องทางสุดท้าย (last resort) ที่บริษัทจะเลือก เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมจากกองทุน BSF จะสูงกว่าที่บริษัทจัดหาด้วยตัวเอง
ถาม : ธปท. มองทิศทางการออกขายหุ้นกู้ของตลาดเป็นอย่างไรภายใต้ความผันผวน และคาดว่าการออกหุ้นกู้เอกชนจะลดลงหรือไม่
ตอบ : คาดว่าความต้องการในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภายใต้ความผันผวนจากเหตุการณ์ COVID-19 อาจส่งผลให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนจากตลาดนี้ได้เหมือนช่วงก่อนเหตุการณ์ COVID-19 แต่หากในอนาคตสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ธุรกิจต่างๆกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ คาดว่าสถานการณ์การระดมทุนจะปรับดีขึ้นตามลำดับ
ถาม : กองทุน BSF จำนวน 4 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีความต้องการขอยื่นกู้มามากแค่ไหนแล้ว ถ้าผู้ออกหุ้นกู้ Rollover ได้ไม่ถึงครึ่ง แต่มูลค่าหุ้นกู้กลับสูงมากอาจกระทบตลาด ลักษณะนี้จะให้กู้ได้หรือไม่
ตอบ : ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกองทุนแล้ว หากบริษัทไม่สามารถจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นได้อย่างน้อย 50% จะไม่สามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ได้ อย่างไรก็ดีบริษัทที่ยอดคงค้างตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนดสูง มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มี credit rating ดี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทในกลุ่มนี้ยังมีความสามารถระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ได้ อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นมักมีช่องทางในการจัดหาเงินทุนผ่านสถาบันการเงินอีกทางหนึ่ง
ถาม : ปริมาณหุ้นกู้ที่จะครบ Rollover ในเดือนพ.ค. - มิ.ย. หรือ ครึ่งแรกปีนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ ธปท.ประเมินความเสี่ยงต่อระบบตลาดตราสารหนี้อย่างไร
ตอบ : ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. มีหุ้นกู้ครบกำหนดรวมกันประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่มี credit rating สูงกว่า A- ขึ้นไป ประมาณ 68% ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดทั้งหมด และเป็นกลุ่ม BBB+ ถึงBBB- ประมาณ 22% ซึ่ง ธปท. จะมีการติดตามสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้จะการ rollover ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอย่างใกล้ชิด
ถาม : ความช่วยเหลือตราสารหนี้ในส่วนแรก 1 ล้านล้านบาท ที่ให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยซื้อสินทรัพย์จากกองทุนตราสารหนี้และมาขอความช่วยเหลือต่อจาก ธปท. ว่ามีธนาคารพาณิชย์เข้าช่วยซื้อสินทรัพย์หรือไม่ มีกองทุนใดที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วบ้าง จำนวนเท่าไหร่ – Updated
ตอบ : ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 มียอดคงค้างธุรกรรม Mutual Fund Liquidity Facility (MFLF) สุทธิ 56,047 ล้านบาท โดยมี ธพ. ที่ทำธุรกรรมกับ ธปท. 9 ราย และกองทุนที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 30 กองทุน ทั้ง ธปท. มีการประกาศยอดคงค้างธุรกรรม MFLF รายสัปดาห์โดยจะประกาศในวันทำการแรกของสัปดาห์ถัดไป
ถาม : ความคืบหน้าความต้องการกู้กองทุน BSF จำนวน 4 แสนล้านบาท และกรณีบริษัทออกขายหุ้นกู้แต่ปิดการขายก่อน คำถามคือ ส่วนที่ขายไม่หมดจะขอกู้กองทุน BSF ได้หรือไม่ หรือมีแนวทางแนะนำอย่างไร เช่น บริษัทขายหุ้นกู้ จำนวน 5,000 ล้านบาท แต่ขายได้จริง 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะกู้ BSF ได้หรือไม่ – Updated
ตอบ : การพิจารณาให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ
1) ต้องมีตราสารหนี้เดิมครบกำหนดและต้องการ rollover
2) ต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นให้ได้อย่างน้อย 50% ซึ่งประกอบด้วย
2.1) จะต้องออกหุ้นกู้ใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างน้อย 20% และ 2.2) จะต้องจัดหาเงินทุนจากสถาบันการเงินอย่างน้อย 20%
3) บริษัทจะต้องเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีและมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยได้รับการจัดอันดับ credit rating ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ซึ่งในกรณีที่ออกหุ้นกู้ 2,000 ล้านบาท เพื่อ rollover ที่ครบกำหนด 5,000 ล้านบาท จะถือว่าผ่านเงื่อนไขข้อ 2.1 เพียงข้อเดียว ซึ่งหากบริษัทสามารถผ่านเงื่อนไขข้ออื่นๆได้ครบถ้วน ก็จะเข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ได้
ถาม : จำนวนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปี 63 รบกวนแยกประเภทธุรกิจต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง, บริการ/การผลิต/ประเมินแนวโน้มต้นทุนในการออกหุ้นกู้ หรือ Rollover ปีนี้อย่างไร – Updated
ตอบ : หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงเดือน พ.ค. - ธ.ค. 63 รวมทุกประเภทธุรกิจ ประมาณ 670,000 ล้านบาท แยกประเภทธุรกิจหลักๆ ได้ดังนี้ ธนาคารและสถาบันการเงิน 220,000 ล้านบาท, อสังหาริมทรัพย์ 115,000 ล้านบาท, อาหาร 65,000 ล้านบาท และ พลังงาน 59,000 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้แนวโน้มต้นทุนการออกหุ้นกู้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนบางกลุ่มอาจปรับลดลง เช่น กองทุนประกันสังคม เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการชดเชยการว่างงาน หรือประชาชนทั่วไป ที่อาจมีรายได้ลดลง ส่งผลให้มีเงินออมลดลง
ถาม : พ.ร.ก. BSF มาตรา 20 กำหนดว่า ถ้าการไปช่วยซื้อหุ้นกู้เอกชนตาม พ.ร.ก. นี้แล้ว ถ้ามีกำไรเกิดขึ้นให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ถ้าขาดทุนเสียหายไป ให้กระทรวงการคลังชดเชยให้ ธปท. ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ทำไมกระทรวงการคลังถึงชดเชยแค่ 40,000 ล้านบาท และถ้าความเสียหายเกินที่กำหนด ธปท.จะทำอย่างไร
ตอบ : การชดเชย 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นภายใต้การให้ความช่วยเหลือในวงเงิน 400,000 ล้านบาท ตามวิธีคำนวณจากข้อมูลในอดีต แต่หากความเสียหายเกินกว่า 40,000 ล้านบาท ธปท. จะเป็นผู้รับความเสียหายดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการ ธปท. จึงมีการกำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุนและมีกระบวนการรายงานความเสียหายให้คณะกรรมการทราบ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage